คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10166/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 32 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในวันฟ้องคดีนี้ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติเช่นเดียวกันว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดไม่ได้” บทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้ไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับโทษจะลงแก่ผู้กระทำความผิด แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษทางอาญาซึ่งเกี่ยวพันกับบทกำหนดโทษ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 74/1 ที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ย่อมทำให้ระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาเพิ่มขึ้นหรือหนักกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 95 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเช่นมาตรา 74/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นการสนับสนุนผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องรับโทษ การใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 บังคับแก่คดีนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 98 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 74/1
จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปเพราะคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6)
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฟ้องและฎีกาว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2539 จำเลยกับจำเลยทั้งห้าในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4552/ 2553 ของศาลชั้นต้น และพวกอีกหลายคนซึ่งไม่ได้ฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความและบางคนถึงแก่ความตาย ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 วันที่ 13 มกราคม 2543 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวก วันที่ 1 กันยายน 2543 พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลย วันที่ 16 กรกฎาคม 2555 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ โจทก์ฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2555 แต่ก่อนครบอายุความ 15 ปี ในวันที่ 17 ธันวาคม 2554 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 เพิ่มมาตรา 74/1 มีผลใช้บังคับวันที่ 19 เมษายน 2554 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ” โจทก์อ้างว่า เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการนับอายุความในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ไม่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่จำเลย และไม่ใช่การขยายอายุความ แต่เป็นมาตรการไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาประโยชน์จากอายุความ การตีความโดยเลือกไม่ใช้กฎหมายในส่วนที่อ้างว่าเป็นโทษ เท่ากับเป็นการสนับสนุนผู้กระทำความผิดที่หลบหนีอันเป็นช่องว่างให้ไม่ต้องรับโทษ คดีจึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 32 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในวันฟ้องคดีนี้ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติเช่นเดียวกันว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ ” บทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 แม้ไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาซึ่งเกี่ยวพันกับบทกำหนดโทษ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 ที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ย่อมทำให้ระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาเพิ่มขึ้นหรือหนักกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเช่นมาตรา 74/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นการสนับสนุนผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องรับโทษหรือเป็นช่องว่างดังที่โจทก์ฎีกา เพราะทั้งอัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 รู้อยู่แล้วว่า ความผิดคดีนี้มีอายุความ 15 ปี และได้ฟ้องบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยเมื่อปี 2553 แต่เพิ่งขอออกหมายจับจำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 ก่อนครบอายุความ 15 ปี เพียง 6 เดือนเศษ ทั้งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยกับพวกตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2543 และยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกหลายคนที่ไม่ได้ฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความและบางคนถึงแก่ความตายการใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 บังคับแก่คดีนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองดังกล่าว คดีจึงขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share