แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่กรณีทำสัญญากันในต่างประเทศระบุว่าให้นำคดีสู่ศาลใดและใช้กฎหมายของประเทศใดแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น คู่กรณีทำสัญญากันให้นำคดีสู่ศาลไทย ศาลก็ย่อมใช้กฎหมายไทยบังคับคดี เว้นแต่จะมีตกลงกันให้ใช้กฎหมายต่างประเทศผู้รับขนส่งจะเรียกค่านำเรือเข้าท่าหนีภัยสงครามจากผู้ส่งสินค้าได้เท่าใดนั้นต้องนำสืบว่าเป็นค่าอะไรเท่าใด
ย่อยาว
ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้แทนบริษัทดิ๊ตเฮล์มไซ่ง่อน จำเลยเป็นผู้แทนบริษัทเดินเรือน๊อดดอยเชอร์ลอยด์แห่งเบรเมนในประเทศเยอรมัน บริษัทเดินเรือเยอร์มันทำสัญญาขนส่งยางให้แก่บริษัทดิ๊เฮล์มไซ่ง่อนโดยทำสัญญากันในต่างประเทศ ในใบตราส่งข้อ ๑๙ มีความว่าข้อพิพาททั้งสิ้นจะต้องชี้ขาดตามกฎหมายเยอรมันและโดยศาลเบรเมน ในขณะที่เรือบรรทุกยางมาแวะประเทศไทยนั้น มีข่าวสงคราวระหว่างอังกฤษกับเยอรมันเรือบรรทุกยางจึงกลับมาแวะที่เกาะสีชังโจทก์เกรงยางจะเสีย จึงไปรับยางลงจากเรือ แต่จำเลยเรียกค่านำเรือหนีเข้าท่าร้อยละ ๒๐ มิฉะนั้นไม่ยอมให้ขนยางลงจากเรือ โจทก์จะยอมเสียร้อยละ ๕ แต่จำเลยไม่ยอม ในที่สุดตกลงทำสัญญากันโดยโจทก์ยอมวางเงินร้อยละ ๒๐ นั้นไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ไทย จำกัด ธนาคารจะต้องถือเงินรายนี้รอผลของคดีที่จะนำขึ้นสู้ศาลเพื่อให้ทราบแน่ว่าบริษัทฝ่ายโจทก์จะต้องเสียค่านำเรือเข้าท่าหรือไม่ และจะต้องเสียสักเท่าไร จนกว่าศาลไทยจะพิพากษาเด็ดขาดถึงที่สุด ห้ามมิให้ถอนเงินดังกล่าวนั้น
ครั้นแล้วโจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลแสดงว่าฝ่ายโจทก์ไม่ต้องเสียเงินค่านำเรือเข้าท่า
ศาลแพ่งพิพากษาให้โจทก์เสียเงินค่านำเรือเข้าท่าเป็นเงินร้อยละ ๕ ของราคาสินค้า
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามปกติข้อพิพาทในเรื่องขนส่งรายนี้ถ้าเกิดมีขึ้นก็ต้องบังคับตามใบตราส่ง แต่สำหรับเงินทีวางไว้ที่ธนาคารรายที่พิพาทกันในคดีนี้ คู่กรณีทำสัญญาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลไทย ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาได้ และเมื่อคดีสู่ศาลไทย ศาลไทยก็ย่อมนำกฎหมายไทยมาใช้บังคับเว้นแต่จะระบุในสัญญาฉะบับหลังนี้ว่าให้ศาลไทยนำกฎหมายเยอรมันมาบังคับส่วน จำนวนเงินนั้นจำเลยสืบไม่ได้ว่ามีสิทธิยึดไว้เป็นค่าอะไรเป็นจำนวนเท่าใด ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าจำเลยยึดไว้ได้ร้อยละ ๕ ของราคาสินค้า โจทก์จึงรับเงินที่เหลือนี้คืนได้ จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง