คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีชั้นเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ครั้งแรกยื่นคำขอรับชำระหนี้ 1,940,000 บาท ต่อมาได้ถอนไปเสีย 1,930,000 บาทคงเหลือ 10,000 บาทอันเป็นทุนทรัพย์ในคดี เมื่อไม่เกินสองหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224ก่อนแก้ไข อันเป็นกฎหมายในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นอุทธรณ์ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย มาตรา 153 ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยหากวินิจฉัยให้ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีสิทธิยกข้อดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ที่แก้ไขแล้วประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 153 ส่วนฎีกาที่ว่าสัญญาว่าความต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้เจ้าหนี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะฎีกาได้นั้น เจ้าหนี้มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดในฎีกาว่า เป็นการโต้แย้งข้อกฎหมายข้อใดอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ที่แก้ไขแล้ว ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 153

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและร้อยตรีสมชาย พุฒสง่า เจ้าหนี้ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ตามสัญญาจ้างว่าความเป็นเงิน 1,940,000 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง ต่อมาเจ้าหนี้ขอถอนคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 1,930,000บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาต
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้และจำเลยทั้งสองตรวจคำขอรับชำระหนี้ แล้วนางธนพรเจ้าหนี้รายอื่นได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่าหนี้ของเจ้าหนี้เป็นหนี้ที่สมยอมกันทำขึ้นระหว่างเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 โดยไม่มีหนี้ต่อกันจริง เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เมื่อเจ้าหนี้และจำเลยทั้งสองกับเจ้าหนี้ผู้โต้แย้งให้การรับว่า เจ้าหนี้เป็นทนายความเคยว่าความให้จำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองก็ให้การรับว่าเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง แม้หากเจ้าหนี้และจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำสัญญาจ้างว่าความกันไว้ เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายยอมรับก็มีผลผูกพันกันแล้วเพราะสัญญาจ้างว่าความทำด้วยปากเปล่าก็ได้ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ เจ้าหนี้ติดใจขอรับชำระหนี้เพียง 10,000 บาทซึ่งเป็นค่าจ้างว่าความที่ถูกมากอยู่แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยังคลาดเคลื่อนต่อพยานหลักฐานในสำนวน ที่เจ้าหนี้ขอถอนคำขอรับชำระหนี้บางส่วนจนเหลือเพียง10,000 บาท ก็เหมือนเจ้าหนี้รายอื่นที่ขอถอนเช่นเดียวกันและเพราะเจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองต้องล้มละลายโดยจำเลยทั้งสองมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเจตนาร้ายต่อเจ้าหนี้เพราะเจ้าหนี้เป็นทนายความให้แก่จำเลยทั้งสองโดยได้คัดค้านการขายทรัพย์ของจำเลยทั้งสองซักค้านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองร้องต่อศาลว่าการประชุมในการประนอมหนี้ไม่ถูกต้อง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการให้เจ้าหนี้พ้นจากการเป็นกรรมการเจ้าหนี้ เห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวของเจ้าหนี้ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นโดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า คำให้การของเจ้าหนี้และจำเลยทั้งสองขัดแย้งกันเป็นข้อพิรุธน่าสงสัยยิ่ง ไม่น่าเชื่อว่าจะได้ทำสัญญาจ้างว่าความตามเอกสารหมาย จ.1 กันจริง แต่น่าจะเป็นหนี้ที่ทำขึ้นโดยสมยอมกัน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง หาได้เป็นข้อกฎหมายตามที่อ้างในอุทธรณ์ไม่ เมื่อคดีในชั้นนี้เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ซึ่งแม้ครั้งแรกที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้นจะเป็นเงิน 1,940,000 บาท แต่ต่อมาได้ถอนไปเสียเป็นเงิน1,930,000 บาท จึงคงเหลือที่ขอรับชำระหนี้เป็นเงินเพียง 10,000 บาทอันเป็นทุนทรัพย์ในคดี เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกินสองหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 ก่อนแก้ไข อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2534 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยกข้อดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ที่แก้ไขแล้วประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153ส่วนที่เจ้าหนี้ฎีกาในข้อ 2.3 ตอนท้ายว่า สัญญาจ้างว่าความต้องทำเป็นหนังสือหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้เจ้าหนี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะฎีกาได้นั้นเจ้าหนี้มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดในฎีกาว่า เป็นการโต้แย้งข้อกฎหมายข้อใดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ที่แก้ไขแล้ว ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของเจ้าหนี้

Share