คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ อันเป็นการขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 (2) ซึ่งโจทก์รู้ล่วงหน้าถึงข้อกำหนดคุณสมบัตินี้ จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งที่ ๑๘/๒๔๙๗ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ตั้งโรงพิมพ์ตำรวจ จำเลยที่ ๒ มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ ในกิจการโรงพิมพ์ดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ในปี ๒๕๒๙ จำเลยออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ ออกมาแก้ไขข้อบังคับฉบับเดิมโดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอม ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียสิทธิคือได้รับบำเหน็จลดลงเท่ากับจำนวนเงินค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่กำหนดว่าจะต้องจ้างกันนานเท่าใด และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าว ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จค้างจ่าย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. ๒๕๒๙ มีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งสามเกษียณอายุจึงต้องคิดเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้และการที่โจทก์ทั้งสามพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เหตุที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานก็เพราะโจทก์ทั้งสามมีอายุครบ ๖๐ปีบริบูรณ์ เป็นการขาดคุณสมบัติที่จะทำงานกับโรงพิมพ์ตำรวจต่อไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙(๒) ซึ่งโจทก์ทั้งสามรู้อยู่ล่วงหน้าถึงข้อกำหนดคุณสมบัตินี้ จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๒
พิพากษายืน.

Share