คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน เพราะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น เป็นการขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9(2)โจทก์ได้ รู้ล่วงหน้าถึง ข้อกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว จึงมิใช่กรณีที่จะต้อง บอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ดังนี้ จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 ตั้งโรงพิมพ์ตำรวจขึ้นเพื่อจัดพิมพ์เอกสารต่าง ๆ ของกรมตำรวจ รวมทั้งรับจ้างพิมพ์เอกสารอื่นเพื่อเป็นการแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1มีคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหาร จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่บริหารทำการแทนจำเลยที่ 1ตามที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2528 จำเลยที่ 1 ได้ออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2528 ระบุว่า พนักงานจะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ถ้าหากออกจากงาน เพราะพ้นจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจำนวนเงินบำเหน็จที่จะจ่ายให้แก่พนักงาน จ่ายเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของระยะเวลาทำงาน ต่อมาในเดือนกันยายน 2528 จำเลยที่ 1ได้ออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2528 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำจำกัดความของคำว่า “พนักงาน”และคำว่า “ระยะเวลาทำงาน” ผลของการแก้ไขทำให้พนักงานทุกคนซึ่งเคยทำงานเป็นลูกจ้างประจำรายวัน รวมทั้งพนักงานที่มีรายเดือนแต่เคยทำงานเป็นรายวันมาก่อนก็มีสิทธินับระยะเวลาทำงานซึ่งเคยทำงานเป็นรายวันมาคำนวณระยะเวลาทำงานด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จำเลยได้ออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529ซึ่งในการออกข้อบังคับนี้โจทก์ทั้งสามไม่ได้ยินยอมพร้อมใจด้วย การแก้ไขข้อบังคับซึ่งเมื่อแก้แล้วไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสาม ทำให้โจทก์ทั้งสามต้องเสียสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ตามข้อบังคับปี2528 โดยระบุว่า ในกรณีพนักงานออกจากงานตามข้อ 9 โดยได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับต่ำกว่าบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ก็ให้จ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนที่ขาด การแก้ข้อบังคับนี้ทำให้โจทก์ทั้งสามซึ่งแต่เดิมมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับปี 2528 และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแต่เมื่อแก้ไขแล้วทำให้สิทธิของโจทก์ทั้งสามที่ได้รับบำเหน็จลดลงเท่ากับจำนวนเงินค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานการแก้ไขดังกล่าวมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามและไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับปี พ.ศ. 2528 จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้งสามทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสามด้วยโจทก์ทั้งสามได้ทวงถามให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและบำเหน็จที่ค้างจ่าย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่ไม่ชำระให้ ขอให้จำเลยจ่ายบำเหน็จค้างจ่ายแก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 คนละ 34,950 บาท 33,780 บาท และ 29,640 บาท ตามลำดับกับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 คนละ 5,825 บาท 5,630 บาท และ 4,940 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 มีค่าจ้างและระยะเวลาในการทำงานตามคำฟ้อง แต่โรงพิมพ์ตำรวจเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เฉพาะราชการกรมตำรวจจึงเป็นกิจการไม่ได้แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ อยู่นอกข่ายบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 ซึ่งขณะนี้มีผลใช้บังคับแก่ลูกจ้างทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสามด้วย โดยโจทก์ทั้งสามและลูกจ้างทุกคนในขณะนี้ยินยอม ฉะนั้นข้อบังคับนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเกษียณอายุ การคิดเงินบำเหน็จจึงต้องใช้ข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 การจ่ายเงินบำเหน็จนั้นไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินตามที่กฎหมายแรงงานบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างจึงไม่เกี่ยวกับการเป็นนายจ้างลูกจ้างกันไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่ใช่เกิดจากข้อเรียกร้องฉะนั้นนายจ้างมีสิทธิจะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเป็นเงินจำนวนเท่าใดก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเกษียณอายุโจทก์ทั้งสามได้รับเงินบำเหน็จไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีเงินบำเหน็จที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสาม สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องมานั้น เนื่องจากโจทก์ทั้งสามพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุ โดยโจทก์ทั้งสามขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2520 ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ โรงพิมพ์ตำรวจไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่เป็นหน่วยหนึ่งของกรมตำรวจ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการโรงพิมพ์ตำรวจได้กระทำไปในขอบเขตอำนาจหน้าที่จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โรงพิมพ์ตำรวจเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่กรมตำรวจเป็นเจ้าของ กิจการของโรงพิมพ์ตำรวจเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจและอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 นั้นเมื่อทางโรงพิมพ์ตำรวจออกข้อบังคับมา โจทก์ทั้งสามไม่ได้คัดค้านเอาไว้ทั้งที่มีสิทธิที่จะคัดค้านได้อยู่แล้วกลับปล่อยนิ่งเฉยเป็นเวลาถึงสองปี ถือว่าเป็นการยินยอมโดยปริยายแล้วข้อบังคับดังกล่าวเมื่อโจทก์ทั้งสามยินยอมแล้วก็มีผลใช้บังคับกับโจทก์ทั้งสามได้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ทั้งสามครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งสามออกจากงานเพราะเหตุมีอายุ 60 ปี ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ในประการต่อมาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า เหตุที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสามออกจากงานก็เพราะโจทก์ทั้งสามมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นการขาดคุณสมบัติที่จะทำงานกับโรงพิมพ์ตำรวจต่อไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2) กำหนดไว้ ซึ่งโจทก์ทั้งสามรู้อยู่ล่วงหน้าถึงข้อกำหนดคุณสมบัตินี้แล้ว จึงมิใช่กรณีที่จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582…”
พิพากษายืน.

Share