คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10129/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่ ช. ปลูกต้นยางพาราในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้นยางพาราดังกล่าวจึงเป็นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่ทรัพย์ของ ช. แม้ผู้เสียหายซื้อต้นยางพาราจาก ก. บุตรเขยของ ช. ต้นยางพาราดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายยังไม่ได้เข้าไปกรีดเอาน้ำยางซึ่งเป็นของป่าจากต้นยางพาราดังกล่าว จึงยังไม่มีการยึดถือเอาน้ำยางเป็นของตน การที่จำเลยเข้าไปเอาน้ำยางจากต้นยางพาราดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้มีอาชีพกสิกรรมโดยผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 335 (12) วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 334, 335, 358, 359 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 571/2552 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 250/2553 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 514/2551 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) วรรคแรก จำคุก 3 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 514/2551 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 102/2553 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 69/2554 ของศาลชั้นต้น ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) วรรคแรกด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยเข้าไปกรีดเอาน้ำยางจากต้นยางพาราซึ่งนายเชื่อง ปลูกขึ้นในที่เกิดเหตุอันเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยกรีดเอาน้ำยางของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า นายเชื่อง พ่อตาของนายกุศลซึ่งครอบครองที่เกิดเหตุได้ปลูกต้นยางพาราไว้ในที่เกิดเหตุและต่อมานายกุศลขายต้นยางพาราให้แก่ผู้เสียหาย การที่จำเลยเข้าไปกรีดน้ำยางซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นยางพาราของผู้เสียหายในที่เกิดเหตุ จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ได้ความจากนายสมเกียรติ พนักงานพิทักษ์ป่าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พ.ง. 5 (กะปง) พยานโจทก์เบิกความว่า การปลูกต้นยางพาราในคดีนี้กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตและได้ความจากผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากซื้อต้นยางพารามาจากนายกุศลแล้ว ผู้เสียหายยังไม่ได้เข้าไปกรีดน้ำยางและยังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์รองรับน้ำยางจากการกรีดแต่อย่างใด ซึ่งจำเลยก็นำสืบรับว่า ได้เข้าไปกรีดเอาน้ำยางจากต้นยางพาราในที่เกิดเหตุไปจริง เห็นว่า ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งไม่อาจโอนให้แก่กันได้โดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ การที่นายเชื่องปลูกต้นยางพาราในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้นยางพาราจึงเป็นไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่ทรัพย์ของนายเชื่อง แม้ผู้เสียหายจะซื้อต้นยางพาราดังกล่าวมาอีกต่อหนึ่ง ต้นยางพาราก็ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้เสียหายและเมื่อผู้เสียหายยังไม่ได้เข้าไปกรีดเอาน้ำยางซึ่งเป็นของป่าจากต้นยางพารา ผู้เสียหายจึงยังไม่มีการยึดถือเอาซึ่งน้ำยางเป็นของตน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้มีอาชีพกสิกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) วรรคแรก คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share