คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10127/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 กระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ถือว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดคดีนี้ก่อนคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อมูลการแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฉะเชิงเทรามาใช้ประกอบดุลพินิจกำหนดโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยที่ 3 ว่ากระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งที่ 2 นั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก), 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
แม้ฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นฎีกาที่ขอให้รอการลงโทษ หรือ รอการกำหนดโทษ หรือ คุมประพฤติ อันเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180, 183 และไม่อาจฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ เพราะ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมา ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเกี่ยวกับโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 3 ให้เหมาะสมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 14,884 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3939/2556 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 2 มีอายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 3 มีอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 10 มีกำหนดคนละ 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษาโดยให้หักวันควบคุม ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3939/2556 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 14,884 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อมูลตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฉะเชิงเทรามาใช้ประกอบดุลพินิจพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยผิดไปว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในคดีนี้เป็นครั้งที่ 2 เพราะเคยกระทำความผิดในคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 เป็นคดีแรกนั้นเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ตามคำร้องผัดฟ้องเอกสารท้ายฎีกาจำเลยที่ 3 หมายเลข 4 ระบุว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 คดีนี้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดคดีนี้ก่อนคดีหมายเลขแดงที่ 95/2556 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวน แล้วนำมาประกอบดุลพินิจกำหนดโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนบังคับแก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ก), 247 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
ส่วนฎีกาประการต่อไปของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษหรือคุมประพฤติ อันเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น แม้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 ประกอบมาตรา 180 และไม่อาจฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้เพราะเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมา ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยเกี่ยวกับโทษและวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 3 ให้เหมาะสมได้ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า รายงานแสดงข้อเท็จจริงของสถานพินิจมีข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบันเพราะจำเลยที่ 3 ปรับปรุงตัวแล้ว และเข้าศึกษาที่ศูนย์การศึกษานอกระบบ จำเลยที่ 3 ไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจของศาลนั้น เห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ศาลได้แจ้งรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดฉะเชิงเทราให้จำเลยที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องทราบแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 16 กันยายน 2556 ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำข้อมูลจากรายงานดังกล่าวมาฟังประกอบดุลพินิจเกี่ยวกับการกำหนดลงโทษหรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่จำเลยที่ 3 จึงชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายงานดังกล่าวแล้ว ความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยที่ 3 เสียหายโดยไม่สนใจต่อการศึกษาเล่าเรียน ใช้ชีวิตอิสระเสเพล คบหาเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสียหาย มั่วสุมชักชวนกันเที่ยวเตร่ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพที่วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ แทนที่จะศึกษาเล่าเรียนให้จบ ก็เรียนได้เพียง 2 เดือน เนื่องจากคบเพื่อนชักชวนกันเที่ยวเตร่ มีเรื่องชกต่อยหลายครั้ง ไม่เข้าเรียน หนีเรียนบ่อย แต่งกายผิดระเบียบ สูบบุหรี่ในโรงเรียน เสพยาเสพติดให้โทษ ถูกลงโทษว่ากล่าวตักเตือนและต้องออกจากโรงเรียน ชอบเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนและมีเรื่องทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและยังกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ถึง 2 คดี แม้คดีนี้จะเป็นการกระทำความผิดเป็นครั้งแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่หลังจากกระทำความผิดคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 3 ก็ยังกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์อีก แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่รู้สำนึกในการกระทำความผิด และไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 3 จะอ้างในฎีกาว่าเข้าศึกษาต่อก็เป็นการศึกษานอกระบบ หาได้แน่นอนว่าจำเลยที่ 3 จะศึกษาต่อไปจนจบไม่ อนาคตของจำเลยที่ 3 จึงน่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share