แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์จิ๊ปซึ่งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ คือ ห้ามล้อมือใช้การไม่ได้ ห้ามล้อเท้าใช้ได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความเร็วสูงประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเหตุให้ชนผู้ตายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตัดหน้าจำเลยตรงสี่แยก จนถึงแก่ความตายนั้น แม้จะฟังว่าเป็นความผิดของผู้ตายด้วยก็ดีแต่ถ้าหากจำเลยใช้รถที่มีห้ามล้อดี ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด รถก็จะไม่ชนกันแล้ว จำเลยก็ต้องมีผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๐๖ เวลากลางคืน จำเลยขับรถยนต์จี๊ป ซึ่งมีห้ามล้อเท้าใช้ไม่ได้ไปตามถนนพระราม ๕ ด้วยความประมาท ฝ่าฝืนกฎหมายและข้อบังคับ จำเลยเห็นนายสุจิโรจน์ อินทรกำแหง ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีนายประสูตร ศราคนี นั่งซ้อนท้ายมาตามถนนศรีอยุธยาจะผ่านทางร่วมสี่แยกถนนศรีอยุธยาโดยเหตุที่จำเลยขับผ่านทางแยกด้วยความเร็วสูงเกินกว่า ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจำเลยจึงชนรถจักรยานยนต์ที่นายสุจิโรจน์ขับกระเด็นคว่ำ เป็นเหตุให้นายประสูตรบาดเจ็บสาหัส ถึงแก่ความตายในคืนนั้น ส่วนนายสุจิโรจน์บาดเจ็บถึงสลบ และตายวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ จำเลยขับรถชนแล้วมิได้หยุดช่วยเหลือ แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทิ้งรถหนีไป เหตุเกิดตำบลสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า รถจำเลยกับรถนายสุจิโรจน์ชนกันที่ตรงสี่แยกถนนพระราม ๕กับถนนศรีอยุธยาตัดกัน รถจำเลยอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ คือ ห้ามล้อมือใช้การไม้ได้ ห้ามล้อเท้าใช้ได้เพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ขัดต่อกฎของกรมตำรวจซึ่งวางไว้ว่า เหยียบห้ามล้อครั้งแรกต้องได้อย่างน้อย ๔๐ เปอร์เซ็น และจำเลยขับรถผ่านสี่แยกเร็วเกินกว่า ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อชนแล้วไม่อยู่ช่วยเหลือ กลับหนีไป จำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติจราจร ส่วนความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท วินิจฉัยว่า รถจักรยานยนต์ของผู้ตายไม่ได้หยุดที่ป้ายหยุดดูไปตรงสี่แยกถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม ๕ เป็นทางเอกไม่มีป้ายจราจรบังคับให้หยุดดูไป จำเลยคงมีหน้าที่ชลอความเร็วของรถลง หาจำต้องหยุดเช่นเดียวกับทางที่นายสุจิโรจน์ผู้ตายขับมานั้นไม่ ผู้ตายขับรถฝ่าฝืนตัดหน้ารถจำเลย เป็นเหตุให้ชนกัน ฟังว่าเป็นความผิดของผู้ตายเอง แม้จะได้ความว่าจำเลยขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในการตายซึ่งเนื่องจากการประมาทของผู้ตายเอง พิพากษาว่าจำเลยผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ มาตรา ๒๘,๓๐,๖๖,๖๘ พระราชบัญญัติจราจรทางบก(ฉบับที่ ๓)พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๔ ปรับ ๑๐๐
บาท
อัยการโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะฟังว่าผู้ตายขับรถฝ่าผืนตัดหน้ารถจำเลยดังที่จำเลยนำสืบ อันจะพึงถือว่าเป็นความผิดของผู้ตายด้วยก็ดี จำเลยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถอยู่นั่นเอง หาเป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิดไปได้ไม่ เพราะถ้าหากจำเลยใช้รถที่มีห้ามล้อดีและขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินกว่า ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว รถก็จะไม่เกิดชนกันขึ้น พิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๙๑ ด้วย ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๐ แต่เรื่องนี้ตามสำนวนผู้ตายมีส่วนเป็นผู้ประมาทอยู่ด้วย สมควรกรุณาจำเลย ให้จำคุกจำเลย ๓ ปี
จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คืนเกิดเหตุจำเลยขับรถจี๊ปมาตามถนนพระราม ๕ มุ่งตรงไปทางโรงเรียนพาณิชยการพระนคร นายสุจิโรจน์ผู้ตายขับขี่รถจักรยานยนต์มาตามถนนศรีอยุธยาโฉมหน้าไปทางพระบรมรูปทรงม้า แล้วรถทั้ง ๒ ฝ่ายเกิดชนกันที่สี่แยกศรีอยุธยา ระหว่างถนนพระราม ๕ กับถนนศรีอยุธยาตัดกัน และได้ความจากร้อยตำรวจเอกเปล่งผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้ตรวจพิสูจน์รถจำเลยประกอบกับรอยห้ามล้อในแผนที่เกิดเหตุที่จำเลยลงชื่อรับรองว่าถูกต้องแล้วว่า จำเลยขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ ๕๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ห้ามล้อมือใช้การไม่ได้ ส่วนห้ามล้อเท้าใช้ได้เพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ขัดต่อกฎของกรมตำรวจซึ่งวางไว้ว่าเหยียบห้ามล้อมครั้งแรกต้องได้อย่างน้อย ๔๐ เปอร์เซ็นต์ และเมื่อชนกันแล้วจำเลยก็ไม่อยู่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กลับหนีไปเสีย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงของคดีฟังได้ชัดว่า รถจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ และเมื่อถึงสี่แยกก็ยังขับด้วยความเร็วสูงประมาณ ๕๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตามกฎหมายให้ขับได้ไม่เกิน ๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังดังที่โจทก์กล่าวหา
ถึงหากจะฟังว่านายสุจิโรจน์ผู้ตายขับรถฝ่าฝืนตัดหน้าจำเลย อันพึงถือได้ว่าเป็นความผิดของผู้ตายด้วยก็ดี ก็หาทำให้จำเลยพ้นผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทไปได้ไม่ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยละเอียดนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน