แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าชนรถ 3 ล้อ โดยประมาทแล้ว ผู้ตายซึ่งโดยสารมาในรถ 3 ล้อ ก็ตกกระเด็นลงไปล้มนอนอยู่ที่ทางรถราง พอดีกับรถรางแล่นมาถึงแล้วทับครูดไปในระยะ 1 วา รถรางจึงสามารถหยุดนิ่งได้ ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บมากและถึงตายเพราะพิษบาดแผลนั้น โดยรถรางมิได้แล่นมาเร็วผิดธรรมดา กรณีเช่นนี้ถือว่า ความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถจักรยานสามล้อมที่นายมัยเป็นผู้ขับขี่และมีนางชิดนั่งมา จนล้มตะแคง นางชิดตกจากรถกลิ้งเข้าไปในทางรถราง พอดีกับนายบุญศรี ขับรถรางมาในระยะกระชั้นชิด ไม่สามารถห้ามล้อได้ทัน รถรางจึงชนและครูดร่างกายนางชิดได้รับบาดเจ็บสาหัส ถึงแก่คงามตายขอให้ลงโทษ
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้ชนรถสามล้อที่นายมัยขับ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายมัยผู้ขับขี่รถสามล้อตกลงไปในรางรถรางและรถคว่ำลงไป
ศาลอาญาพิจารณาเห็นว่า การตายมิได้เกิดเพราะถูกรถรางครูด ความตายจึงไม่ใช่ผลโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย และในข้อที่ว่า รถรางจะสามารถห้ามล้อให้รถหยุดได้ทันหรือไม่นั้น พยานโจทก์ยังมีลักษณะอาจเป็นไปได้ทั้งสองนัย ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ขณะนางชิตตกจากรถสามล้อกลิ้งอยู่ในรางรถนั้น รถรางยังอยู่ห่าง ๔ วา รถรางแล่นมาตามราง แม้ในอัตราไม่เร็วนัก ก็ยากที่จะหยุดได้ทัน เพราะคนขับรถรางคงไม่คาดคิดว่าจะมีคนอยู่ในรางในระยะกระชั้นชิดเช่นนั้น การตายของนางชิดจึงเป็นผลโดยตรงจากประมาทของจำเลย พิพากษากลับศาลชั้นต้นว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๒ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙ (๔), ๖๖ แต่ให้ลงโทษด้วยบทหนัก คือ กฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๕๒ จำคุกจำเลย ๑ ปี คำขอให้สั่งถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย เห็นว่ายังไม่สมควรสั่งถอน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า เมื่อจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าชนรถ ๓ ล้อ โดยประมาทแล้ว ผู้ตายซึ่งโดยสารมาในรถ ๓ ล้อ ก็ตกกระเด็นลงไปล้มนอนอยู่ที่ทางรถราง พอดีกับรถรางแล่นมาถึงแล้วทับครูดไปในระยะ ๑ วา รถรางจึงสามารถหยุดนิ่งได้ ทำให้นางชิตได้รับบาดเจ็บมากและถึงตายเพราะพิษบาดแผลนั้น โดยรถรางมิได้แล่นมาเร็วผิดธรรมดา กรณีเช่นนี้ถือว่า ความตายของผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลย
แต่คำรับชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาจึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ โดยให้ลดโทษจำเลย ๑ ใน ๓ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๕๙ คงจำคุกจำเลย ๘ เดือน