คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10100/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เดิมบริษัท ท. จะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (เดิม) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นเวลาภายหลังจากมาตรา 1273/4 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่คดีนี้ ซึ่งมาตรา 1273/4 วรรคสอง กำหนดว่าการร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน อันเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้ร้องซึ่งเคยมีอยู่แต่เดิมก่อนกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ การนับระยะเวลาจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด การนับกำหนดระยะเวลาร้องขอให้บริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 วรรคสอง จึงให้เริ่มนับแต่วันที่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 หาใช่เริ่มนับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียน เมื่อนับแต่วันที่มาตรา 1273/4 วรรคสอง มีผลใช้บังคับจนถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนนทบุรี (ที่ถูกคือ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร) จดชื่อบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน
ศาลชั้นต้นประกาศตามระเบียบและส่งสำเนาให้นายทะเบียนแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนได้ความจากพยานหลักฐานของ ผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ทุกประเภทของสถาบันการเงินตามหนังสือรับรอง บริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด ได้ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 8 โฉนด เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินของบริษัททิพธิดา จำกัด ไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 120,000,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เห็นว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) ไม่อาจฟื้นฐานะและไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ จึงมีคำสั่งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) ระงับการดำเนินกิจการ และให้องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นำทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวออกประมูลขายเพื่อดำเนินการชำระบัญชีตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 โดยบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เป็นผู้ชนะการประมูลจึงได้รับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหลักประกันแห่งหนี้ทั้งหมดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) มาบริหารจัดการ ต่อมาวันที่ 3 มกราคม 2545 บริษัททิพธิดา จำกัด และบริษัท ที.ที.ดี. (1993) จำกัด ในฐานะลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ยอมรับว่ามีหนี้ค้างชำระทั้งสิ้น 378,754,419.54 บาท ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองได้ลงชื่อรับทราบและยินยอมปฏิบัติตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว หลังจากทำสัญญา ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันทั้งหมดผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา มีหนี้ค้างชำระเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2548 บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) ได้โอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้และผู้ค้ำประกันทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามมติคณะรัฐมนตรี ผู้ร้องจึงได้รับโอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) มีต่อลูกหนี้รวมทั้งบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสำเนาหนังสือซื้อขายสินทรัพย์ บริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด มีภาระหนี้ตามคำพิพากษาต่อผู้ร้อง คำนวณถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2554 มีหนี้ค้างชำระเป็นต้นเงิน 116,776,436.58 บาท ดอกเบี้ย 212,751,510.87 บาท รวมเป็นเงิน 329,527,947.45 บาท ตามรายการคำนวณภาระหนี้ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ขีดชื่อบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ตามหนังสือรับรอง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำร้องของผู้ร้องเพราะเหตุที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อออกจากทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 วรรคสอง (ที่มีผลใช้บังคับในขณะยื่นคำร้อง) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด ออกจากทะเบียน โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 (เดิม) การร้องขอให้ศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอให้จดชื่อกลับคืนสู่ทะเบียนไว้ กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังมาใช้บังคับได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ นั้น เห็นว่า แม้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ขีดชื่อบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด ออกจากทะเบียน เป็นบริษัทร้าง ตามความในมาตรา 1246 (เดิม) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ก็ตาม แต่ต่อมาบทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปโดยมีมาตรา 1273/4 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่เกี่ยวกับการร้องขอให้ศาลสั่งจดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจดชื่อบริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นเวลาภายหลังมาตรา 1273/4 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ซึ่งมาตรา 1273/4 วรรคสอง กำหนดว่าการร้องขอให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน อันเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของผู้ร้อง ซึ่งเคยมีอยู่แต่เดิมก่อนกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ การนับระยะเวลาจำกัดสิทธิของผู้ร้องจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กรณีของบริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด นายทะเบียนได้ขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 เป็นระยะเวลาก่อนที่มาตรา 1273/4 วรรคสอง จะใช้บังคับ การนับกำหนดระยะเวลาร้องขอให้บริษัทดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 วรรคสอง จึงให้เริ่มนับแต่วันที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 หาใช่เริ่มนับแต่วันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทขีดชื่อบริษัทดังกล่าวออกจากทะเบียนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เมื่อนับแต่วันที่มาตรา 1273/4 วรรคสอง มีผลใช้บังคับจนถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำร้องของผู้ร้องเพราะเหตุดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อ บริษัททิพธิดา แมนชั่น จำกัด กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/4 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share