คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ราคาของที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากรนั้น ต้องคิดจากราคาสินค้ารวมกับค่าประกันภัยและค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้าซึ่งเรียกว่าราคา ซี.ไอ.เอฟ. ค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของราคาของ การที่โจทก์โต้แย้งเรื่องค่าขนส่งหรือค่าระวางสินค้าถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับราคาแห่งของเมื่อโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องขอคืนอากรขาเข้ารวมถึงค่าธรรมเนียมพิเศษที่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดระเบียบการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 แม้การที่เจ้าพนักงานประเมินได้มีคำสั่งประเมินภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์สำแดงโดยเพิ่มค่าระวางขนส่งให้สูงขึ้นจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้วก็ตาม แต่ในกรณีเช่นนี้กฎหมายกำหนดขั้นตอนที่โจทก์จะต้องปฏิบัติก่อน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนภาษีอากรดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ได้นำเข้าสินค้าและได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่ง จำเลยประเมินให้โจทก์เพิ่มค่าขนส่งอีก ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิ เป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง ขอให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงิน 102,899 บาท ที่โจทก์เสียไว้เกินคืนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าที่โจทก์แสดงรายการไว้ไม่ถูกต้อง จำเลยจึงให้โจทก์สำแดงรายการให้ถูกต้อง คำฟ้องโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากร ค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาของที่เป็นฐานในการคำนวณภาษี โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนเงินอากร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา10 วรรคห้า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหามีเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับค่าระวางขนส่งสินค้าว่าต้องคิดจากค่าระวางขนส่งสินค้าตามความเป็นจริงที่ผู้นำเข้าได้เสียไปจริง หรือว่าคิดจากการคำนวณค่าระวางของเจ้าพนักงานประเมิน มิได้มีปัญหาโต้แย้งในเรื่องชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของ จึงไม่ต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าราคาของที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากรนั้น ต้องคิดจากราคาสินค้ารวมกับค่าประกันภัยและค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้า ซึ่งเรียกว่าราคา ซี.ไอ.เอฟ. ค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของราคาของ ฉะนั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโต้แย้งเฉพาะในเรื่องค่าขนส่งหรือค่าระวางสินค้า ก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับราคาแห่งของตามความหมายในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าเมื่อโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องขอคืนอากรขาเข้ารวมถึงค่าธรรมเนียมพิเศษที่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดระเบียบการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 ส่วนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนภาษีอากรในส่วนนี้เช่นเดียวกัน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินได้มีคำสั่งประเมินภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์สำแดงโดยเพิ่มค่าระวางขนส่งให้สูงขึ้น ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องไปยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรจากจำเลยเพื่อให้จำเลยปฏิเสธก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะถูกโต้แย้งสิทธิ แต่ในกรณีเช่นนี้กฎหมายกำหนดขั้นตอนที่โจทก์จะต้องปฏิบัติก่อนดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share