คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคารและศาลพิพากษาตามยอมว่าข้อ 1 ตกลงชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ตกลงชำระค่าธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2538 และข้อ 3 หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 9 มีนาคม 2538 ย่อมถือว่าผิดนัดและธนาคารสามารถบังคับคดีได้ทันทีตามสัญญาข้อ 3 ดังนั้น อายุความต้องเริ่มนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2538 เมื่อครบ 6 เดือนนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 1 โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 เกิน 10 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดเชียงใหม่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2538 ซึ่งจำเลยทั้งสองตกลงร่วมกันชำระเงิน 1,730,508.72 บาท แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,535,660.88 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (30 มิถุนายน 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท แก่ธนาคารดังกล่าวด้วย ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองได้ในราคา 1,520,000 บาท เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 หักแล้วจำเลยทั้งสองยังคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 3,067,090.30 บาท คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 3,213,251.56 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน พฤติการณ์ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้จากบุคคลภายนอก สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 2 จึงเป็นการโอนที่ไม่สมบูรณ์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นเวลาเพียง 6 เดือน โจทก์ประมูลซื้อทอดตลาดในราคาต่ำทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย หากโจทก์ไม่เอาเปรียบการขายทอดตลาดย่อมชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว การคำนวณหนี้ไม่ถูกต้องเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 เดิมจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 142/2538 ซึ่งจำเลยทั้งสองตกลงร่วมกันชำระเงิน 1,730,508.72 บาท แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,535,660.88 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (30 มิถุนายน 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทั้งสองตกลงชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท แก่ธนาคารดังกล่าวภายในวันที่ 9 มีนาคม 2538 ด้วย หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง จำเลยทั้งสองให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยอมให้บังคับคดีได้ทันที ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 1,520,000 บาท เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 หักแล้วจำเลยทั้งสองยังคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 3,067,090.30 บาท คำนวนถึงวันฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 3,213,251.56 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดหรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี” และมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” คดีนี้จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตกลงชำระหนี้ 2 ข้อ คือ ข้อ 1 ตกลงชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ตกลงชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 5,000 บาท ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2538 และสัญญาข้อ 3 กำหนดว่าหากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่งจำเลยทั้งสองให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยอมให้บังคับคดีได้ทันที เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 9 มีนาคม 2538 ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดและธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สามารถบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ทันทีตามสัญญาข้อ 3 ดังนั้น อายุความเริ่มนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2538 มิใช่เริ่มนับอายุความในวันที่ 9 สิงหาคม 2538 เมื่อครบ 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 1 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 เกินกำหนด 10 ปี แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share