แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่โจทก์อ้างว่าเป็นบุตรผู้ตาย หาว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการขอรับมรดกที่ดินโดยกล่าวว่าผู้ตายไม่มีบุตรไม่มีเมียนั้น เมื่อคดีไม่มีเหตุพอจะฟังว่าจำเลยได้รู้ว่าโจทก์เป็นบุตรผู้ตายก็ถือไม่ได้ว่า จำเลยจงใจแจ้งเท็จ จำเลยย่อมไม่มีผิด
ย่อยาว
ได้ความว่า นายผันมีชื่อในโฉนดเลขที่ 1528 ร่วมกับผู้อื่นนายผันตายมา 3-4 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นบิดานายผัน จำเลยที่ 2 เป็นน้องชายนายผัน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2486 จำเลยที่ 1 ทำใบมอบฉันทะให้จำเลยที่ 2 มาจัดการร้องขอรับมรดกนายผัน จำเลยที่ 2 ได้ร้องต่อพนักงานทะเบียนที่ดิน โดยบอกบัญชีเครือญาติของนายผันว่านายผันไม่มีลูก ไม่มีเมีย เจ้าพนักงานจึงถอนชื่อนายผัน และใส่ชื่อจำเลยที่ 1 แทน โจทก์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ โดยอ้างว่าเป็นบุตรนายผัน หาว่าจำเลยแจ้งความเท็จ ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118, 226, 63 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 ๆ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีไม่พอที่จะถือว่าจำเลยจงใจแจ้งความเท็จ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 3 จำคุก 3 เดือน แต่ให้รอการลงอาญา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีไม่มีเหตุพอฟังว่า จำเลยได้รู้ว่าโจทก์เป็นบุตรนายผัน โดยชอบ เพราะ ตามคำพยานโจทก์ได้ความเพียงว่านางพริ้ง (มารดาโจทก์) มีครรภ์ก่อนแล้ว นายผันจึงลักพาไป และมาสมาและเมื่อนางพริ้งคลอดโจทก์ ก็คงอยู่บ้านบิดานางพริ้งตลอดมา นามสกุลที่ใช้ ก็ไม่ใช่นามสกุลนายผัน จึงฟังได้ว่าจำเลยจงใจแจ้งเท็จไม่ถนัด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง