คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10099/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองให้การว่ามีกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายกับจำเลยที่ 1 ขอเช่ารถยนต์คันพิพาทแล้วไม่ส่งมอบรถคืน จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ อ. กับพวก ในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานอัยการมีความเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันใช้กลอุบายในการที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป โดยแนบสัญญาเช่ารถยนต์และสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการมาท้ายคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานให้เห็นว่า อ. กับพวก มีพฤติการณ์ใช้กลอุบายในการร่วมกันลักเอารถยนต์ไปอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การนำรถยนต์ออกให้เช่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 หากแต่เพียงอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาและสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยประกอบคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ามีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำรถยนต์มาคืน มีการดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งสำเนาคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อ. กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. กับพวก ร่วมกันลักรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวไปอย่างไร คดีอาญาเรื่องอื่นที่มีคำขอให้นับโทษจำคุกต่อเป็นความผิดฐานใด ส่วนจำเลยร่วมมี น. เบิกความว่าพยานสอบปากคำจำเลยที่ 1 ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การแสดงให้เห็นว่า อ. ที่มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีตัวตนจริงไม่ได้มีการแอบอ้างหรือมีบุคคลอื่นแสดงตนเป็น อ. มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า อ. เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาเช่าแล้วร่วมกับพวกลักเอารถยนต์ไปจึงเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองเพราะเหตุความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์นั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตอนหลังกลับวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองเต็มจำนวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ยังต้องการให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง โจทก์ต้องอุทธรณ์ ไม่ใช่เรื่องของจำเลยร่วมที่จะต้องอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 464,098.60 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ 128,000 บาท กับอีกเดือนละ 8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 592,098.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทนำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงิน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกคำขอโจทก์ในส่วนของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กฉ 9478 อุดรธานี ไปจากโจทก์ในราคา 532,057.50 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เป็นรถเก๋งใช้แล้ว เดิมหมายเลขทะเบียน ศง 3493 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อเอาประกันภัยไว้ต่อจำเลยร่วม ระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ว่า โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 27 ตุลาคม 2549 สิ้นสุดวันที่ 27 ตุลาคม 2550 คุ้มครองรถยนต์สูญหาย 390,000 บาท และระบุเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ว่า ใช้ส่วนบุคคล ไม่ใช้รับจ้างหรือให้เช่า โดยทำสัญญาประกันภัยวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ทำกรมธรรม์วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ มีเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวกับคดีนี้ดังนี้ หมวดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 3 การจัดการเรียกร้องเมื่อเกิดความเสียหาย เมื่อมีความเสียหาย หรือความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับขี่จะต้องแจ้งให้บริษัท (จำเลยร่วม) ทราบโดยไม่ชักช้า และดำเนินการอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมาย ข้อ 10 การตีความกรมธรรม์ประกันภัย ข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายและเอกสารประกอบ ให้ตีความตามคู่มือการตีความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 1 ข้อตกลงคุ้มครอง รถยนต์สูญหาย บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหายไป ความสูญหายในที่นี้ให้หมายความรวมถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่เป็นผลมาจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือเป็นผลมาจากการพยายามกระทำเช่นว่านั้น ข้อ 5 การยกเว้นรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายหรือไฟไหม้อันเกิดจาก 5.1 ความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แนบท้ายตารางกรมธรรม์ประกันภัย หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 4 งวด คืองวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 โดยงวดที่ 4 ถึงกำหนดชำระวันที่ 5 มีนาคม 2550 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปให้เช่า ระบุในสัญญาเช่ารถยนต์ลงวันที่ 29 มีนาคม 2550 ว่านางอารีรัตน์ เป็นผู้เช่า นางสาวอนุรักษ์ เป็นผู้ค้ำประกัน อัตราค่าเช่าวันละ 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2550 รวมวันเช่า 15 วัน รวมเป็นเงินค่าเช่า 15,000 บาท จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 5 เมษายน 2550 เป็นต้นมา และเมื่อครบกำหนดเวลาเช่าแล้วผู้เช่าไม่นำรถมาส่งคืนจำเลยที่ 1 ดังนั้นวันที่ 28 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 1 ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีให้ดำเนินคดีแก่นางอารีรัตน์ในข้อหายักยอกทรัพย์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งจำเลยร่วมสำนักงานใหญ่ว่า นางอารีรัตน์มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้วไม่ส่งคืน ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 1 แจ้งเหตุรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายต่อจำเลยร่วมสำนักงานสาขาอุดรธานี นายนันท์ พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุประจำสำนักงานสาขาดังกล่าว บันทึกถ้อยคำจำเลยที่ 1 ไว้ในวันเดียวกันความว่า จำเลยที่ 1 อายุ 44 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันนี้มีจุดประสงค์เพื่อใช้ส่วนตัวและทำธุรกิจเกี่ยวกับการประกอบรถเช่า จำเลยที่ 1 มีรถยนต์สำหรับให้บุคคลทั่วไปเช่า 4 คัน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 นางสาวอนุรักษ์มาติดต่อจำเลยที่ 1 บอกว่าจะนำรถยนต์ไปให้ลูกค้าประจำเช่า ให้เหตุผลว่ารถยนต์ทางร้านนางสาวอนุรักษ์หมด จำเลยที่ 1 จึงให้รถยนต์ที่เช่าซื้อไปให้ลูกค้าดู แล้วนางสาวอนุรักษ์โทรศัพท์แจ้งว่าลูกค้าตกลงเช่า 15 วัน วันละ 1,000 บาท ก็ได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์กัน ทราบว่าลูกค้าชื่อนางอารีรัตน์เป็นผู้เช่า จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 15,000 บาท ทางลูกค้าแจ้งว่าจะนำไปให้ลูกค้าต่างชาติเช่าในเชิงนำเที่ยว มีนางสาวอนุรักษ์เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยร่วมมีหนังสือลงวันที่ 30 เมษายน 2551 เรื่อง แจ้งผลกรมธรรม์ไม่คุ้มครอง ว่า ความสูญหายของรถยนต์ครั้งนี้เข้าข้อยกเว้น ซึ่งกรมธรรม์ไม่คุ้มครอง ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 ส่วนโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 ขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาว่าไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 15 งวดติดต่อกันแล้ว ให้ชำระใน 30 วัน ถ้าไม่ชำระ ให้ถือว่าหนังสือนี้เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ต่อมาก่อนสืบพยานคดีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีอาญาที่พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานีฟ้องนางอารีรัตน์ว่าลักรถยนต์ที่เช่าซื้อ นางอารีรัตน์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามฟ้อง พิพากษาว่านางอารีรัตน์มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกนางอารีรัตน์และให้คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแก่จำเลยที่ 1 (คดีนี้) เป็นเงิน 532,057.50 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว ครั้นถึงวันนัดสืบพยานคดีนี้วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 คู่ความทั้งสามฝ่ายรับกัน พร้อมเงื่อนไขกรมธรรม์ กับรับด้วยว่า กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ จัดให้มีคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไว้ ซึ่งมีข้อ 5 ดังกล่าวตามที่จำเลยทั้งสองให้ดูด้วยจริง ตามสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และรับว่าระหว่างระยะเวลาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เนื่องจากมีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำมาคืน มีการดำเนินคดี คดีถึงที่สุดแล้ว โดยจำเลยที่ 1 แจ้งเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายให้จำเลยร่วมทราบเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2551 จำเลยร่วมขอสละข้อต่อสู้ตามคำให้การ คงเหลือเพียงสองประเด็น คือ ประเด็นแรก การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปให้ผู้อื่นเช่าจนสูญหาย เป็นเหตุให้จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ประเด็นที่สอง จำเลยที่ 1 แจ้งเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายให้จำเลยร่วมทราบโดยไม่ชักช้า และดำเนินการอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานบุคคล จำเลยร่วมนำนายนันท์ เข้าสืบ 1 ปาก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์เป็นเงินที่โจทก์ลงทุน 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ การที่นางอารีรัตน์ลักรถยนต์ไปในช่วงเวลาเดียวกันหลายคัน แม้มีการทำสัญญาเช่ารถยนต์ ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 แต่เห็นได้ว่ามีเจตนาลักเอาไปโดยไม่มีเจตนาจะเช่ารถยนต์ที่เช่าซื้อจริง จึงไม่เข้าข้อยกเว้นข้อ 5 หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ทั้งจำเลยร่วมไม่อาจอ้างข้อ 3 หมวดเงื่อนไขทั่วไป เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ จำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองเต็มจำนวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิด ยกคำขอโจทก์ในส่วนของจำเลยทั้งสอง ซึ่งก็คือยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันที่จำเลยร่วมรับประกันภัยไว้ไปให้ผู้อื่นเช่าแล้วสูญหายเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5 การยกเว้นรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การว่ามีกลุ่มบุคคลใช้กลอุบายกับจำเลยที่ 1 ขอเช่ารถยนต์คันพิพาทแล้วไม่ส่งมอบรถคืน จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางอารีรัตน์กับพวกในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานีมีความเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการร่วมกันใช้กลอุบายในการที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ของผู้เสียหายไป โดยแนบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์และสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานีมาท้ายคำให้การ แต่จำเลยทั้งสองไม่สืบพยานให้เห็นว่านางอารีรัตน์กับพวกมีพฤติการณ์ใช้กลอุบายในการร่วมกันลักเอารถยนต์ไปอย่างไร ทั้งๆที่การนำรถยนต์ออกให้เช่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 หากแต่เพียงอ้างส่งสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2256/2551 ของศาลชั้นต้น และสำเนาคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ประกอบคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า มีผู้มาขอเช่าแล้วไม่นำรถยนต์มาคืน มีการดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวก็ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางอารีรัตน์ว่า วันที่ 26 มีนาคม 2550 วันที่ 29 มีนาคม 2550 และวันที่ 5 เมษายน 2550 จำเลยกับพวกร่วมกันลักรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และของนางอภิญญา รวม 3 คัน นางอารีรัตน์ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาเรื่องอื่นที่มีการขอให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าวอีกหลายคดี และศาลชั้นต้นพิพากษาว่านางอารีรัตน์กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางอารีรัตน์กับพวกร่วมกันลักรถยนต์ทั้งสามคันดังกล่าวไปอย่างไร คดีอาญาเรื่องอื่นที่มีคำขอให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าวเป็นความผิดฐานใด เรื่องใด ส่วนจำเลยร่วมซึ่งให้การว่า การใช้รถยนต์ของนางอารีรัตน์เป็นการนำรถยนต์ไปใช้ตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 นางอารีรัตน์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโดยมีเจตนายักยอกไปเป็นของตนเอง เป็นการยักยอกขณะครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า โดยมีนายนันท์ เบิกความว่า พยานเป็นลูกจ้างจำเลยร่วม ตำแหน่งพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจ้งเหตุของลูกค้า พยานได้สอบปากคำจำเลยที่ 1 ไว้ ตามบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งบันทึกถ้อยคำดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า นางสาวอนุรักษ์ มาติดต่อว่าจะนำรถยนต์ไปให้ลูกค้าประจำเช่าซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าเป็นใคร โดยให้เหตุผลว่ารถยนต์ของทางร้านนางสาวอนุรักษ์หมด จำเลยที่ 1 จึงนำรถยนต์ให้นางสาวอนุรักษ์ไปให้ลูกค้าดู จากนั้นจึงได้โทรศัพท์มาแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าลูกค้าตกลงเช่ารถยนต์คันดังกล่าว 15 วัน วันละ 1,000 บาท จากนั้นก็ได้ทำสัญญาเช่ารถ ทราบว่าลูกค้าชื่อนางอารีรัตน์ เป็นผู้เช่า ลูกค้าแจ้งว่านำรถยนต์ไปให้ลูกค้าต่างชาติเช่าในเชิงนำเที่ยว และในตอนท้ายให้ถ้อยคำว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า ลูกค้าไม่นำรถยนต์มาคืน จึงได้โทรศัพท์ติดต่อ ปรากฏทางลูกค้า ใช้รถอยู่ไม่สามารถนำมาให้ได้จึงสงสัย ประมาณ 20 วัน จึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 ได้ติดตามเอง เบื้องต้นพบตัวผู้เช่าและผู้ค้ำประกันที่คอนโดมิเนียมสินธานี ถนนรามอินทรา กรุงเทพมหานคร แต่ไม่สามารถทำอะไร จึงมาแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การของจำเลยทั้งสองซึ่งมีการกรอกชื่อผู้เช่า ผู้ค้ำประกัน ที่อยู่ปัจจุบัน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ โดยผู้เช่าชื่อนางอารีรัตน์ ก็ตรงกับชื่อจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2256/2551 แสดงให้เห็นว่านางอารีรัตน์ที่มาทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 มีตัวตนจริง ไม่ได้มีการแอบอ้างหรือมีบุคคลอื่นแสดงตนเป็นนางอารีรัตน์มาติดต่อขอเช่ารถยนต์ มีการระบุสถานที่ทำงานของนางสาวอนุรักษ์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันว่า เลิศชัยคาร์เร็นท์ อุดรธานี สอดรับกับที่จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับนางสาวอนุรักษ์ไว้ในบันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้อง ทั้งยังมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่ระบุชื่อนางสาวอนุรักษ์แนบท้ายสัญญาเช่ารถยนต์ด้วยโดยไม่ปรากฏว่าเป็นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนปลอม ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองอ้างส่งประกอบคำแถลงแต่ไม่นำพยานเข้าสืบและพยานหลักฐานที่จำเลยร่วมนำสืบมาคงฟังได้เพียงว่านางอารีรัตน์เช่ารถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาเช่ารถยนต์เอกสารท้ายคำให้การของจำเลยทั้งสองแล้วร่วมกับพวกลักเอารถยนต์คันดังกล่าวไป จึงเป็นกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองเพราะเหตุความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่าตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 5.1 จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์คันดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและต่อโจทก์ผู้รับประโยชน์ ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดต่อโจทก์นั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตอนหลังกลับวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยร่วมต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองเต็มจำนวนแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิด ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสอง เช่นนี้ หากโจทก์ยังคงต้องการให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง ไม่ใช่เรื่องของจำเลยร่วมที่จะต้องอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ได้ ส่วนฎีกาของจำเลยร่วมประการอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมในประเด็นที่ว่าจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share