คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ชำระเงินค่าเช่าซื้อยังไม่ครบนั้น เมื่อมีใครมาทำละเมิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อจนเกิดเสียหายและขาดประโยชน์การใช้ ย่อมถือว่าผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหาย และมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดนั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2503 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกยี่ห้อจี๊ปใหญ่ของจำเลยที่ 2 ไปเพื่อกิจการค้าของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับขี่เสียหายทั้งคัน และโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสกระดูกหักถึงสลบ ที่ทางแยกถนนอำเภอสีคิ้วจะเข้าถนนมิตรภาพ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 50,052 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การรับตามฟ้อง เว้นแต่เรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องนั้นสูงเกินความจริง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เมาสุราแล้วถือวิสาสะขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จอดเก็บไว้ไปเที่ยวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ผู้เดียว

ชั้นพิจารณาระหว่างโจทก์ที่ 1 กำลังเบิกความยังไม่เสร็จ โจทก์จำเลยตกลงกันในเรื่องค่าเสียหายว่า หากศาลฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แล้ว จำเลยขอชำระให้เป็นเงิน 32,500 บาท โจทก์พอใจ ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานในประเด็นค่าเสียหายต่อไป

ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาแล้วเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขณะทำละเมิด จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1นำรถยนต์กลับบ้าน จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทน 32,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ กับค่าทนาย 300 บาทแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ 150 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในขณะกระทำละเมิด

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ที่ 1 ให้การไว้ชั้นสอบสวนในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ต้องหาว่าขับรถโดยประมาทว่า โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันที่ถูกชนจากบริษัทธนบุรี จำกัด ยังชำระเงินไม่หมด ฉะนั้นโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพราะรถยังเป็นของบริษัทธนบุรี จำกัดอยู่ หาใช่ของโจทก์ที่ 1 ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หากโจทก์ที่ 1 จะชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์คันนี้ยังไม่ครบตามฎีกาของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะยึดถือและใช้ประโยชน์ตลอดจนมีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์คันนี้ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีตลอดไปและเมื่อได้ชำระเงินให้ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว รถยนต์ย่อมตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 หรือหากเลิกสัญญาเช่าซื้อกัน โจทก์ที่ 1 ก็ต้องมีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์คืนให้ผู้เช่าซื้อในสภาพเดิม ฉะนั้นเมื่อจำเลยทำละเมิดจนรถยนต์ดังกล่าวเสียหายและขาดประโยชน์การใช้ โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้เสียหายและต้องถือว่าจำเลยได้ทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงอยู่ในฐานะที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า ขณะทำละเมิดจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตอนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์เพื่อนำกลับบ้านตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงอยู่ในทางการที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น

เหตุนี้ จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2 เสีย และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 300 บาทแก่โจทก์ด้วย

Share