คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10072/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ร้อยเอก ธ. กับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตรวจสอบรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงที่จำเลยขับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งมาตรา 15 ทวิ บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน” การที่ร้อยเอก ธ. กับพวกกักตัวจำเลยไว้ก่อนที่จำเลยจะหลบหนีจึงเป็นการกักตัวตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เฉพาะ มิใช่การจับตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ขณะกักตัวจำเลยจะมีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ด้วยก็ตาม ทั้งนี้การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะมี เจ้าพนักงานตำรวจร่วมอยู่ด้วยในการกักตัวจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ ดังนี้ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 จำเลยจึงยังไม่ถูกจับ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการฝากขังจำเลยในคดีนี้ จึงชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 6, 61, 73/2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบรถบรรทุกลากจูง หมายเลขทะเบียน 70-1957 มหาสารคาม และรถพ่วง หมายเลขทะเบียน 70-1881 มหาสารคาม ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง, 73/2 จำคุก 2 เดือน และริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ร้อยเอกธนกฤต กับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง สถานีตำรวจทางหลวง 4 เจ้าหน้าที่หมวดการทางเขมราฐ เจ้าหน้าที่หมวดการทางหลวงนาตาล เจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบท และเจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเขมราฐ ตรวจสอบรถบรรทุกที่แล่นไปตามถนนสายอุบลราชธานี-เขมราฐ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2050) และถนนสายเขมราฐ-ปากแซง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2112) ที่เกิดเหตุ ซึ่งรวมทั้งรถบรรทุกลากจูง หมายเลขทะเบียน 70-1957 มหาสารคาม และรถพ่วง หมายเลขทะเบียน 70-1881 มหาสารคาม ที่จำเลยเป็นผู้ขับด้วย โดยสงสัยว่าจะบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แล้วให้จำเลยขับรถไปที่ท่าทรายของเอกชนเพื่อชั่งน้ำหนัก แต่จำเลยหลบหนีไปโดยจอดรถบรรทุกคันดังกล่าวไว้ในที่เกิดเหตุ วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่แขวงการทางได้ตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกที่จำเลยขับพบว่าน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จำเลยมาพบร้อยเอกธนกฤต ครั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ร้อยเอกธนกฤตกับพวกนำจำเลยพร้อมรถบรรทุกของกลางส่งมอบให้พนักงานสอบสวน มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ร้อยเอกธนกฤตกับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตรวจสอบรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงที่จำเลยขับโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 8 ซึ่งมาตรา 15 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน” ดังนี้ การที่ร้อยเอกธนกฤตกับพวกกักตัวจำเลยไว้ก่อนที่จำเลยจะหลบหนีจึงเป็นการกักตัวตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เฉพาะ มิใช่การจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 แม้ขณะกักตัวจำเลยจะมีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ด้วยก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 บัญญัติว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว ตามมาตรา 117” ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะมีเจ้าพนักงานตำรวจร่วมอยู่ด้วยในการกักตัวจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ ดังนี้ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 จำเลยจึงยังไม่ถูกจับ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยนั้น คัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์และเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 เดือนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน เป็นกักขังแทน 2 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share