คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136,326,90 และ 91 คำฟ้องที่โจทก์บรรยายไว้มีข้อความครบถ้วน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ได้ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมทั้ง ถ้อยคำเบิกความอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทและดูหมิ่น ไว้เพียงพอ ที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาทั้งสองได้ดี โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องแยกว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทและส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 1 ในคดี ที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาว่า ในขณะที่โจทก์ทำหน้าที่สืบสวนหามูลคดีในเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกด. กับพวก ร้องเรียนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกัน ข่มขู่ให้จำเลยให้การปรักปรำ ด. โดยโจทก์ได้เรียกร้องเงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทน ในการปั้นพยานอันเป็นการสร้างพยานหลักฐานที่ไม่เป็น ความจริงให้แก่จำเลยที่ 1 ความจริงโจทก์ไม่เคยเรียกร้อง เงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความ การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกสอบสวนเอาความผิด ทางวินัยในเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ เพราะกรณี เช่นนี้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 อาจจะรอผลการพิจารณา พิพากษาคดีนี้ก็ได้ ดังนั้น ถ้อยคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326,83, 90 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าสำหรับจำเลยที่ 1คดีมีมูลบางข้อหา ให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ส่วนจำเลยที่ 2 คดีมีมูลทุกข้อหา ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 326 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 6กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 1 ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาตามคดีหมายเลขดำที่ 5765/2534 ว่า ในระหว่างวันที่ 2 และ 3 กุมภาพันธ์ 2531 ในขณะที่โจทก์ทำหน้าที่สืบสวนหามูลคดีในเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกนายดิเรก อุทัยผล และนายคำนึง ทองเปรม ร้องเรียนกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันข่มขู่ให้พยานให้การปรักปรำนายดิเรก โดยโจทก์ได้เรียกร้องเงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนในการปั้นพยานอันเป็นการสร้างพยานหลักฐานที่ไม่เป็น ความจริงให้แก่จำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นข้อแรกก่อนว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าคำฟ้องที่ โจทก์บรรยายไว้นั้นมีข้อความครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ส่วนใด เป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทและส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาดูหมิ่น เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมทั้งถ้อยคำเบิกความอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทและดูหมิ่นไว้ด้วยแล้ว จึงเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาทั้งสองได้ดี ไม่จำเป็นต้องแยกว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท และส่วนใดเป็นความผิดในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ส่วนในปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่ได้เรียกร้องเงินจำนวน 30,000 บาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการ ปั้นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกนายดิเรกและนายคำนึงร้องเรียนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันข่มขู่ให้พยานให้การปรักปรำนายดิเรก หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่าย จำเลยที่ 1 จะถูกดำเนินคดีตามที่ถูกกล่าวหา ดังที่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของโจทก์เบิกความ โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทสันติเลิศ สายเสียงสด และนายดาบตำรวจสำเร็จ ใจสุทธิ ผู้ร่วมสืบสวนกับโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า ในระหว่างที่โจทก์และพยานทั้งสองไปร่วมรับประทานอาหาร ที่ร้านไผ่เงิน เมื่อโจทก์พบจำเลยที่ 1 ที่ร้านดังกล่าวคงพูดคุยกัน ตามปกติ มิได้มีการเรียกร้องเงินกันแต่ประการใด และในตอนที่ โจทก์สอบปากคำจำเลยที่ 1 ในห้องพักของโจทก์ โจทก์ก็มิได้ เรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 เช่นกัน พยานโจทก์ทั้งสองนี้ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อนย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 หาได้ โต้แย้งคัดค้านคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองในชั้นฎีกาว่า ไม่ถูกต้องอย่างใดไม่ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 มาเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เรียกร้องเงินจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 1 เท่านั้นนายเกษม โพธิ์ประสิทธิ์ ทนายความของจำเลยที่ 1 ที่ร่วมรับประทานอาหารโต๊ะเดียวกับ จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่ารู้เห็นในการที่โจทก์เรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำตัวมาเบิกความสนับสนุนคำพยานฝ่ายตนให้มีน้ำหนักรับฟัง และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นายเกษมเคยเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5312/2534 นั้น ก็ไม่ได้ความว่านายเกษม เบิกความว่าอย่างไร เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้นำคำเบิกความ ของนายเกษมดังกล่าวมาอ้างเป็นพยานในคดีนี้ นอกจากนี้พันตำรวจโทสุภร ศุภรัตน์ พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้สืบสวน หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องเรียกของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวหา นายดิเรก และพวกก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรายงานให้พยานทราบเกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์เรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 ประกอบกับพันตำรวจโทสวัสดิ์ แพ่งสภา พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า โจทก์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเคร่งครัดและไม่เคยกลั่นแกล้ง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและยังได้ความจากคำเบิกความของ พันตำรวจเอกประดิษฐ์ กล้าณรงค์ พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ไม่เคยถูกตั้ง กรรมการสอบสวนในข้อกล่าวหาว่าเรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 ทำให้เจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ไม่เคยเรียกร้องจำนวน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 2 เบิกความแต่ประการใด แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกสอบสวนเอาความผิดทางวินัยในเรื่อง ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ก็ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาได้ เพราะกรณีเช่นนี้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 อาจจะรอผลการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ก็ได้ ดังนั้น ถ้อยคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็น การดูหมิ่นและหมิ่นประมาทโจทก์ หาใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความใดโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกัน ส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ไม่
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ลงโทษในสถานเบากว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดนั้น เห็นว่า โทษที่จำเลยที่ 2 ได้รับนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน

Share