คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมกรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลและจัดการผลประโยชน์ที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดจำเลย. เมื่อกรมการศาสนาฟ้อง ส.และว.ขอเลิกการเช่า. ได้มีผู้อื่นยื่นคำเสนอขอเช่าที่ดินแปลงนี้หลายราย. แต่กรมการศาสนามิได้พิจารณาให้ผู้ใดเช่า.กรมการศาสนาได้บอกปัดข้อเสนอของโจทก์และผู้แทนชาวตลาด.ไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์กับพวกตามความเห็นของพระพุทธิวงศาจารย์ผู้รักษาการเจ้าอาวาส.ซึ่งพระพุทธิวงศาจารย์ก็มิได้มีปฏิกิริยาคัดค้านอำนาจของกรมการศาสนาแต่ประการใด. คงรับรองอำนาจของกรมการศาสนาว่ามีอำนาจเด็ดขาดที่จะให้เช่าหรือไม่ให้เช่าที่พิพาท. จึงถือไม่ได้ว่ากรมการศาสนาร่วมกับพระพุทธิวงศาจารย์ได้ตกลงให้โจทก์กับพวกเช่าที่ดินพิพาท. เมื่อกรมการศาสนาผู้มีอำนาจจัดการให้เช่าที่ดินพิพาทไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์.ข้อเสนอเช่าของโจทก์ย่อมตกไป. โจทก์และวัดจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์อย่างใดต่อกัน. แม้สัญญาเช่าฉบับนี้จะได้ทำกันภายหลังที่พระพุทธิวงศาจารย์ถอนอำนาจจัดการผลประโยชน์จากกรมการศาสนามาจัดการเองในฐานะผู้รักษาการเจ้าอาวาสและมีอำนาจที่จะทำสัญญาให้เช่าที่พิพาทได้ก็ดี.
จ.มีผลประโยชน์ร่วมกับพวกโจทก์หากได้เช่าตลาดพิพาทเป็นเวลานานปี. แต่พระพุทธิวงศาจารย์ กลับตั้งให้จ.เป็นไวยาวัจกรของวัด. มอบอำนาจให้จ.ทำสัญญาเช่าฉบับพิพาทกับโจทก์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 และเก็บค่าเช่าในนามของวัดจำเลย. จนกระทั่งพระพุทธิวงศาจารย์พ้นจากตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2507 และไม่ยอมมอบงานให้แก่พระครูวินัยธรนวนเจ้าอาวาสองค์ใหม่. ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2507 พระพุทธิวงศาจารย์จึงได้มอบงานในหน้าที่ให้พระครูวินัยธรนวน. จึงได้ปรากฏสัญญาเช่าฉบับพิพาทขึ้นว่า พระพุทธิวงศาจารย์ได้มอบอำนาจให้ จ. ทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2505.พฤติการณ์ดังนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าสัญญาเช่าฉบับนี้เกิดจากพระพุทธิวงศาจารย์และ จ.สมยอมกับโจทก์ทำขึ้นโดยไม่สุจริต. เพราะโจทก์เองก็รู้แล้วว่าเป็นทางให้วัดจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและตลาดได้รับความเสียหาย. สัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 ระหว่างโจทก์กับพระพุทธิวงศาจารย์จึงไม่ผูกพันวัดจำเลย. โจทก์ไม่มีอำนาจนำสัญญาเช่าซึ่งเกิดจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์มาฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาหรือบังคับให้จดทะเบียนสัญญาเช่าตามฟ้องได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับพวกติดต่อขอเช่าที่ดินธรณีสงฆ์ของจำเลยเพื่อปลูกสร้างเป็นตลาดแผงลอยและตึกแถวให้เช่าจากพระพุทธิวงศาจารย์ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส ต่อมาจึงได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือนายจิตร แสงทับทิม ไวยาวัจกรตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากพระพุทธิวงศาจารย์เป็นผู้ให้เช่า ในระหว่างที่ยังจดทะเบียนการเช่าไม่ได้วัดยอมให้ผู้เช่าจัดการเกี่ยวกับที่ดินที่เช่า ฯลฯ โจทก์ได้ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่า ส่วนการจดทะเบียนยังไม่สามารถทำได้พระครูวินัยธรนวนหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้วได้พยายามขัดขวางการใช้สิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ ฯลฯ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้วัดจันทรสโมสรปฏิบัติตามสัญญาเช่าลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 ให้จดทะเบียนสัญญาเช่าฉบับนี้ต่อพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานทะเบียนที่ดินจังหวัดพระนคร หากวัดจันทรสโมสรไม่ยอมจดทะเบียนขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และขอให้ห้ามมิให้วัดจันทรสโมสรเข้าเกี่ยวข้องขัดขวางการใช้สิทธิตามสัญญาเช่ารายนี้ของโจทก์จนตลอดอายุสัญญาเช่า จำเลยให้การว่า วัดจันทรสโมสรจำเลยได้ใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของที่ธรณีสงฆ์ เข้าครอบครองเก็บผลประโยชน์บนที่ดินและตลาดไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าใช้สิทธิในฐานะผู้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยไม่รับรองสัญญาเช่าลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2505และไม่รับรองว่านายจิตรมีอำนาจทำสัญญาเช่าแทนวัดพระพุทธิวงศาจารย์และนายจิตรสมคบกับโจทก์แสดงเจตนาลวง ทำสัญญาฉบับนี้ขึ้นเพื่อฉ้อโกงเงินค่าเช่าและผลประโยชน์ของวัด จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และพิพากษาว่าสัญญาเช่านานปีลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 เป็นโมฆะ ห้ามโจทก์กับพวกเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ธรณีสงฆ์ และผลประโยชน์ของจำเลยต่อไป โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นใจความว่า สัญญาเช่ารายนี้คู่สัญญาทำขึ้นด้วยเจตนาสุจริต และมีอำนาจที่จะทำได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ธรณีสงฆ์และผลประโยชน์ของวัดจำเลยต่อไป โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาประเด็นสำคัญที่ต้องวินิจฉัยมีว่า สัญญาเช่านานปีลงวันที่ 1พฤษภาคม 2505 ระหว่างโจทก์กับพระพุทธิวงศาจารย์รักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยโดยนายจิตร แสงทับทิม ผู้รับมอบอำนาจ เกิดจากการแสดงเจตนาที่จะให้ผูกพันกันจริงจังหรือเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แต่เดิมมานั้น กรมการศาสนาเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แต่เดิมมานั้น กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลและจัดการผลประโยชน์ที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดจำเลย เมื่อกรมการศาสนาฟ้องนายสง่า นางสังวาลย์ขอเลิกการเช่าแล้ว ได้มีผู้อื่นยื่นคำเสนอขอเช่าที่ดินแปลงนี้เพื่อก่อสร้างตลาดและตึกแถวเช่นเดียวกับนายสง่านางสังวาลย์หลายราย โดยยื่นต่อกรมการศาสนาบ้าง ต่อพระพุทธิวงศาจารย์รักษาการเจ้าอาวาสบ้าง และต่อสังฆนายกบ้าง แต่กรมการศาสนามิได้พิจารณาให้ผู้ใดเช่า เฉพาะรายผู้แทนชาวตลาดซึ่งมีโจทก์ที่ 2 และนายจิตรแสงทับทิมกับพวกยื่นคำเสนอขอเช่าต่อสังฆนายก สังฆนายกส่งเรื่องมาให้พระพุทธิวงศาจารย์รักษาการเจ้าอาวาสวัดจำเลยพิจารณา แม้พระพุทธิวงศาจารย์จะเห็นว่าควรให้ผู้แทนชาวตลาดได้เช่า แต่แล้วกรมการศาสนาก็ไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์ที่ 2 กับพวก ศาลฎีกาเห็นว่ากรมการศาสนาได้บอกปัดข้อเสนอของโจทก์และผู้แทนชาวตลาดไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์กับพวกตามความเห็นของพระพุทธิวงศาจารย์รักษาการเจ้าอาวาส ซึ่งพระพุทธิวงศาจารย์ก็มิได้มีปฏิกิริยาคัดค้านอำนาจของกรมการศาสนาแต่ประการใด คงรับรองอำนาจของกรมการศาสนาว่ามีอำนาจเด็ดขาดที่จะให้เช่าหรือไม่ให้เช่าที่พิพาทฉะนั้น ที่โจทก์อ้างว่ากรมการศาสนาร่วมกับพระพุทธิวงศาจารย์ได้ตกลงให้โจทก์กับพวกเช่าที่ดินพิพาทจึงฟังไม่ขึ้นเมื่อกรมการศาสนาผู้มีอำนาจจัดการให้เช่าที่ดินพิพาท ไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์ข้อเสนอเช่าของโจทก์ย่อมตกไป โจทก์และวัดจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์อย่างใดต่อกัน สัญญาเช่าฉบับนี้แม้จะได้กระทำภายหลังที่พระพุทธิวงศาจารย์ถอนอำนาจจัดการผลประโยชน์ที่พิพาทจากกรมการศาสนามาจัดการเอง ในฐานะผู้รักษาการเจ้าอาวาส พระพุทธิวงศาจารย์มีอำนาจที่จะทำสัญญาให้เช่าที่พิพาทได้ก็ดี แต่เมื่ออำนาจจัดการผลประโยชน์ที่พิพาทยังอยู่กับกรมการศาสนา กรมการศาสนาได้ปฏิเสธไม่ยอมทำสัญญาเช่าให้โจทก์ จึงไม่เกิดนิติสัมพันธ์ใด ๆ ระหว่างโจทก์กับวัดจำเลย นอกจากนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นายจิตร แสงทับทิมมีผลประโยชน์ร่วมกับพวกโจทก์ หากได้เช่าตลาดรายนี้เป็นเวลานานปีย่อมได้รับผลประโยชน์มากมาย แต่พระพุทธิวงศาจารย์กลับตั้งให้นายจิตรเป็นไวยาวัจกรของวัด มอบอำนาจให้นายจิตรทำสัญญาเช่าให้โจทก์ สัญญาเช่านี้ได้ทำขึ้นแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2505 การเก็บค่าเช่าแผงลอยในตลาดก็ยังเก็บโดยนายจิตรซึ่งได้รับมอบอำนาจจากพระพุทธิวงศาจารย์ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาสให้เก็บในนามของวัดจำเลย จนกระทั่งพระพุทธิวงศาจารย์พ้นจากตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2507 และไม่ยอมมอบงานให้แก่พระครูวินัยธรนวนเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2507พระพุทธิวงศาจารย์ได้มอบงานในหน้าที่ให้พระครูวินัยธรนวนตามคำสั่งของพระธรรมปัญญาบดีเจ้าคณะจังหวัดจึงได้ปรากฏสัญญาเช่าฉบับพิพาทขึ้นว่า พระพุทธิวงศาจารย์ได้มอบอำนาจให้นายจิตรแสงทับทิม ทำสัญญาเช่าให้โจทก์ทั้งสองแล้วแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2505ศาลฎีกาเห็นว่า โดยพฤติการณ์ทั้งหลายดังกล่าวมา น่าเชื่อว่าสัญญาเช่าฉบับนี้เกิดจากพระพุทธิวงศาจารย์และนายจิตร แสงทับทิมสมยอมกับโจทก์ทำขึ้นโดยไม่สุจริตเพราะโจทก์เองก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้วัดจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและตลาดได้รับความเสียหาย สัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2505 ระหว่างโจทก์กับพระพุทธิวงศาจารย์จึงไม่ผูกพันวัดจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจนำสัญญาเช่าซึ่งเกิดจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของโจทก์มาฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาหรือบังคับให้จดทะเบียนสัญญาเช่าตามฟ้องได้ พิพากษายืน.

Share