คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005-1006/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ 2 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยมาในคดีเดียวกันรวมค่าเสียหายเกิน 50,000 บาท โดยต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวแยกกันแต่ละรายไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้
ฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท ฎีกาข้อเท็จจริงตามฟ้องแย้งไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีสองสำนวนนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าฎีกาของคู่ความเป็นฎีกาที่ต้องห้ามหรือไม่ พิเคราะห์แล้วสำหรับคดีสำนวนแรกที่นายสุรพงษ์ตั้งดำรงค์กุล กับพวกเป็นโจทก์นั้น แม้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะฟ้องเรียกค่าเสียหายมาในคดีเดียวกัน รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เกินห้าหมื่นบาท แต่โจทก์ที่ 1ที่ 2 ต่างก็ใช้สิทธิเฉพาะตัวเรียกค่าเสียหายแยกกันเป็นส่วนสัดทุนทรัพย์ไม่เกินรายละห้าหมื่นบาท การพิจารณาถึงสิทธิในการฎีกาจึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์แยกกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า รถโจทก์ที่ 1 จอดล้ำเส้นทางรถจำเลยโดยรถโจทก์ที่ 1 ไม่มีสัญญาณไฟ ศาลชั้นต้นเห็นว่ารถโจทก์ที่ 1 ไม่ประมาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าประมาท โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่ารถโจทก์ที่ 1 เปิดไฟไว้เป็นสัญญาณแก่รถอื่น จึงเป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ศาลฎีการับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ให้ไม่ได้ ฎีกาจำเลยเกี่ยวกับฟ้องแย้งก็มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า คนขับรถจำเลยมองเห็นทางข้างหน้าไม่ชัด แต่ไม่ลดความเร็วของรถลง เป็นเหตุให้รถชนกันคนขับรถจำเลยประมาทด้วย จำเลยฎีกาว่ารถโจทก์ที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาเช่นกัน”

พิพากษายกฎีกาโจทก์จำเลย

Share