คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1004/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานธนาคารจำเลย ทำงานธุรการ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน การที่โจทก์ฉวยโอกาสละทิ้งหน้าที่เป็นครั้งคราว และการที่มีเจ้าหนี้หลายรายมาทวงหนี้จำเลยที่สำนักงาน ยังถือไม่ได้ว่าพฤติการณ์ของโจทก์เป็นการทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งหน้าที่สุดท้ายเป็นพนักงานธุรการ ๑ ประจำสำนักงานสาขาชัยภูมิ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไม่อุทิศเวลาให้แก่ธนาคารจำเลย มีหนี้สินรุงรังอาจทำให้ธนาคารจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ความจริงโจทก์ไม่เคยละทิ้งหน้าที่ และไม่มีหนี้สินรุงรังตามที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน ๑๘,๙๓๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กล่าวคือโจทก์ก่อหนี้สินรุงรังไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้มาติดต่อทวงถามที่สำนักงานจำเลยเป็นประจำ นำความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาสู่จำเลย โจทก์ชอบละทิ้งหน้าที่อยู่เป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่จำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือโดยชอบแล้วแต่ยังฝ่าฝืนอีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ชั่วครั้งชั่วคราว และกรณีที่โจทก์มีหนี้สินรุงรัง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ ๙ ว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้างข้อ ๓ (๘)(๑๐) แต่ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง จำเลยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ ๔๗(๓) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖เมษายน ๒๕๑๕ ที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ๑๘,๙๓๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า กรณีละทิ้งหน้าที่นั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปตลอดทั้งวันหรือหลายวัน อันอาจทำให้งานในหน้าที่ที่โจทก์ต้องทำหยุดชะงัก เป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง หากแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฉวยโอกาสละทิ้งหน้าที่เป็นครั้งคราวชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และกรณีที่โจทก์มีหนี้สินหลายรายและเจ้าหนี้มาทวงที่สำนักงานนั้น ก็ไม่ได้ความว่าโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของธนาคารจำเลยแต่อย่างใด อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยจากการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ได้ การกระทำของโจทก์ยังไม่ถึงกับก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง ทั้งตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับพนักงานและลูกจ้าง ข้อ ๖ เกี่ยวกับการลงโทษให้ออกในกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างกระทำผิดวินัยแต่ไม่ถึงกับให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารจำเลยอย่างร้ายแรงนั้น ก็มิได้กำหนดในเรื่องละทิ้งหน้าที่เนือง ๆ กับการประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่เช่นกรณีมีหนี้สินรุงรังไว้ด้วย ซึ่งแสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอาการกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ดังกล่าวกับการประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่เช่นกรณีมีหนี้สินเป็นการเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗(๓) ที่จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน

Share