แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยนำรถยนต์ออกจากห้างผู้เสียหายเพื่อไปทำความสะอาดตามหน้าที่เสร็จแล้วได้นำรถไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวที่ต่างจังหวัด แต่รถเสียระหว่างทางเป็นเหตุให้นำรถมาคืนผู้เสียหายไม่ได้ ถ้ารถไม่เสียจำเลยก็นำรถมาคืนให้ผู้เสียหายได้ กรณีเป็นการเอารถไปใช้ชั่วคราวเท่านั้น มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคสอง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ให้จำคุกจำเลย 3 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดไฮเวย์คาร์เร้นท์ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล มีนายธวัชชัย จันทรเสรีกุล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ รถยนต์โตโยต้าโคโรน่าหมายเลขทะเบียน 8ง – 5726 กรุงเทพมหานครคันเกิดเหตุ เป็นรถยนต์คันหนึ่งของผู้เสียหายให้ลูกค้าเช่าจำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ก่อนให้เช่าและภายหลังที่ผู้เช่าส่งคืน รวมทั้งนำไปส่งผู้เช่าและติดตามคืนในเมื่อผู้เช่าไม่ส่งตามกำหนดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 เวลา 15.32 นาฬิกาจำเลยได้นำรถยนต์คันดังกล่าวออกไปจากห้างผู้เสียหายเพื่ออัดฉีดทำความสะอาดทั้งภายนอกและภายในที่ปั๊มน้ำมันซึ่งอยู่เยื้องกับห้างผู้เสียหายห่างกันประมาณ 200 เมตรยามตรวจรถเข้าออกได้บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยรับรถจากปั๊มน้ำมันเป็นเวลาเลย 22 นาฬิกาจึงได้นำรถคันดังกล่าวไปไว้ที่บ้านจำเลย ครั้นวันรุ่งขึ้นจำเลยได้นำรถขับไปส่งน้าชายกับครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อไปถึงบ้านโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รถยนต์ได้เกิดเสียขับต่อไปไม่ได้ จำเลยได้ขอความช่วยเหลือจากตำรวจทางหลวงต่อมาได้มีช่างซ่อมรถยนต์ตรวจดู พบว่าเฟืองท้ายเสียต้องถอดเปลี่ยนตำรวจทางหลวงจึงให้ลากรถยนต์ไปจอดไว้ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งเป็นเพื่อนของตำรวจทางหลวง จำเลยไปหาเฟืองท้ายที่ในตัวจังหวัดนครราชสีมา แต่หาไม่ได้จึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานครส่วนน้าชายและครอบครัวพักนอกที่บ้านเพื่อนตำรวจทางหลวง 1 คืน เมื่อจำเลยกลับถึงกรุงเทพมหานครก็ได้ไปทำงานที่ห้างผู้เสียหายตามปกติจำเลยได้ฝากเงิน 1,500 บาท ให้นายสุจินต์ ยางปรางค์ ช่างเครื่องของห้างผู้เสียหายช่วยหาซื้อเฟืองท้ายรถยนต์รุ่นที่จำเลยทำเสียแต่นายสุจินต์ไม่สามารถหาได้ เพราะอะไหล่ไม่มีและราคาประมาณ 2,000บาท จำเลยเคยปรึกษานายวลิต ประสพดีพนักงานขับรถของผู้เสียหายเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวลิตบอกให้ไปบอกผู้จัดการจำเลยบอกว่าไม่กล้าบอกเพราะกลัวถูกไล่ออก นายวลิตจึงแนะนำให้รีบซ่อมและนำรถยนต์กลับคืนมาให้ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่แจ้งต่อสิบตำรวจโทสมเกียรติ น้อยเจริญ เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง จังหวัดนครราชสีมา ว่ามีผู้ชายผู้หญิงรวม 4 คนได้นำรถยนต์พร้อมกุญแจมาฝากไว้แต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2531 และบอกว่าจะเอาอะไหล่มาซ่อมแต่จนบัดนี้ยังไม่มา สิบตำรวจโทสมเกียรติจึงลากรถยนต์ไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง จังหวัดนครราชสีมา และรับกุญแจไว้ด้วย ตรวจภายในรถยนต์พบบัตรประจำตัว ใบขับขี่ของจำเลย และหลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์ซึ่งปรากฏว่าเป็นของผู้เสียหาย จึงได้โทรศัพท์ให้ผู้เสียหายทราบในวันที่ 1 มีนาคม 2531 ครั้นวันที่ 3 มีนาคม 2531 จำเลยไปติดต่อขอรับรถยนต์คืนเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยหาหลักฐานไปให้ตรวจสอบ วันรุ่งขึ้นนายอรุณ รุ่งมโนธรรม ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายไปรับรถยนต์คืน เจ้าพนักงานตำรวจจึงคืนรถยนต์ให้ไปและนายอรุณได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยวันที่ 5 มีนาคม 2531 เจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยขณะที่ทำงานอยู่ที่ห้างผู้เสียหาย
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ในเบื้องต้นจำเลยได้นำรถยนต์ออกจากห้างผู้เสียหายเพื่อไปทำความสะอาด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531ยามของห้างก็ได้บันทึกหมายเลขทะเบียนรถยนต์ ชื่อผู้นำเอาออกไปและวันเวลาที่นำออกไป ต่อมาจำเลยได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อรับน้าชายกับครอบครัวไปจังหวัดนครราชสีมา แต่เฟืองท้ายรถเสียจึงขับต่อไปไม่ได้และจำเลยไม่สามารถหาเฟืองท้ายไปซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวจึงมิได้นำรถยนต์มาคืนผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายได้รับคืนจากเจ้าพนักงานตำรวจในวันที่ 4 มีนาคม 2531 การกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยพารถยนต์ผู้เสียหายเคลื่อนที่ไป อาจเป็นการแย่งการครอบครองไปจากผู้เสียหาย ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ในคดีนี้จำเลยนำรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่งน้าชายและครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมา ถ้าเหตุการณ์ปกติย่อมเห็นได้ว่าเมื่อส่งน้าชายและครอบครัวเสร็จแล้วย่อมนำมาคืนผู้เสียหายได้ แต่ปรากฏว่ารถคันดังกล่าวเฟืองท้ายเสีย จำเลยจึงไม่สามารถนำมาคืนผู้เสียหายได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยเจตนาจะเอารถยนต์ผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าหากจำเลยเจตนาจะเอาทรัพย์ไปเป็นการถาวรอันเป็นลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ จำเลยคงจะเอาไปในลักษณะที่ต้องหลบเลี่ยงจากการบันทึกของยามที่ห้าง ทั้งจำเลยคงจะไม่ทิ้งใบขับขี่ บัตรประจำตัว หลักฐานเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์ไว้ในรถ อันเป็นหนทางที่จะสืบหาถึงตัวจำเลยได้สะดวกนอกจากนี้จำเลยยังได้มอบกุญแจรถยนต์ไว้กับเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ที่รถจอดอยู่ด้วยพฤติการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าจำเลยเพียงแต่เอารถผู้เสียหายไปใช้ชั่วคราว มิได้กระทำเพื่อเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตลอดไป จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.