คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1002/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมรดก จำเลยซึ่งเป็นภริยาเจ้ามรดกให้การว่าผู้ร้องสอดไม่ใช่ภริยาเจ้ามรดกผู้ตาย หากจะเป็นภริยาผู้ตายก็ได้ร้างหรือหย่าขาดจากกันก่อนแล้วดังนี้เป็นการปฏิเสธว่าผู้ร้องสอดไม่ใช่ภริยาอันควรได้รับมรดกของผู้ตาย
ไม่เคลือบคลุม
ภริยาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จากสามีไปสามีได้ภริยาใหม่ภริยาก็ได้สามีใหม่ เป็นการสมัครใจหย่าขาดจากสามีภริยากันตั้งแต่วันที่จากกันไปแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 6 คน เป็นพี่น้องและหลานของนายนาคตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง นายนาควายชนม์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม2495 จำเลยเป็นภรรยาของนายนาคโดยได้เสียกันเองเมื่อประมาณ 10 ปีเศษมานี้ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและไม่มีบุตรด้วยกัน

นายนาคมีทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยนายคร้าม นางวอนยกให้ ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2471ระหว่างจำเลยอยู่กินกับนายนาคได้เกิดมีทรัพย์ขึ้นหลายอย่างตามบัญชีหมายเลข 2 ท้ายฟ้อง คิดเป็นเงิน 15,400 บาท เป็นของจำเลยและนายนาคคนละครึ่ง

นายนาคไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ คงมีแต่โจทก์เป็นทายาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายนาค ตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 1 ทั้งหมดและทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 2 อีกกึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนของนายนาคบัดนี้จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอรับมรดกเสียผู้เดียวโจทก์ได้คัดค้านไว้

ขอให้ศาลแสดงว่า จำเลยไม่มีสิทธิรับมรดกนายนาคในทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 1 และให้จำเลยส่งทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 2 ท้ายฟ้องมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 7,700 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นภรรยานายนาคโดยจดทะเบียนสมรสชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสินเดิมคือสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น แหวนเพชรทองคำหนัก 2 สลึง 1 วง สร้อยข้อมือทองคำหนักเส้นละ 6 สลึง 2 เส้น นายนาคได้เอาสินเดิมของจำเลยใช้หนี้นายนาคซึ่งมีอยู่ก่อนแต่งงาน และใช้จ่ายในการประกอบอาชีพหมดสิ้นไปสินเดิมมีราคา 3,500 บาท ต้องหักสินเดิมให้จำเลยก่อน ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 2 อันดับ 2 ไม่มีได้ขายนำเงินมาใช้หนี้นายนาคและใช้จ่ายพยาบาลนายนาคหมดแล้วทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 2 อันดับ 1, 3, 4 เป็นสินสมรส เป็นของจำเลยกึ่งหนึ่งก่อน อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกซึ่งจำเลยมีสิทธิครึ่งหนึ่งฝ่ายโจทก์คงได้ 1 ใน 4 เท่านั้น

ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 1 บ้านเรือนราคา 10,000 บาท เป็นสินสมรสต้องแบ่งอย่างสมรสดังกล่าวแล้ว ที่ดินโฉนดที่ 1113 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ ราคาประมาณ 32,000 บาท เป็น สินเดิมของนายนาค เมื่อนายนาควายชนม์แล้ว จำเลยได้เสียค่าทำบุญศพไป 3,500 บาท และจะต้องใช้จ่ายในการปลงศพอีก 10,000 บาทขอให้หักเงิน 2 จำนวนนี้ และหักใช้สินเดิมของจำเลย 3,500 บาท ออกก่อนเหลือเป็นมรดก 15,000 บาท ซึ่งได้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งโจทก์กึ่งหนึ่ง จึงฟ้องแย้งขอให้นำที่ดินและบ้านเรือนออกขายโดยประมูล หรือทอดตลาดแล้วแบ่งกันตามส่วน

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่รับรองสำเนาทะเบียนและใบสำคัญ การสมรสของจำเลย คงยืนยันเป็นความจริงดังฟ้องจำเลยไม่มีทรัพย์สิ่งใดมาอยู่กินกับนายนาค ๆ มีทรัพย์ฝ่ายเดียวเรือนนั้นนายนาคมีอยู่ก่อน เป็นแต่ซ่อมแซมขึ้นไม่ทำให้เปลี่ยนเป็นสินสมรส โจทก์ออกเงินทำบุญศพไป จำเลยไม่ได้ใช้จ่ายค่าปลงศพที่จะต้องใช้อีกไม่เกิน 3,000 บาท จำเลยไม่สมควรจะเป็นผู้จัดการปลงศพ หากจะฟังว่าจำเลยเป็นภรรยาผู้ตายโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยก็ไม่มีสินเดิมจะหักได้ แต่ต้องหักใช้สินเดิมของนายนาคก่อนยังเหลือสินสมรสอีกเท่าใด จำเลยมีสิทธิได้ส่วนสมรสเพียง 1 ใน 3 อีก 2 ใน 3 เป็นมรดก หักค่าทำศพไว้ 3,000 บาท เหลือนอกนั้นโจทก์และจำเลยได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน

เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว จำเลยขอแก้ฟ้องแย้งว่าที่ดินโฉนดที่ 1113 นั้น เป็นสินสมรส เพราะผู้ตายนำไปประกันเงินกู้ก่อนสมรสแล้วเอาไปจำนองสหกรณ์ไว้ภายหลังจำเลยกับผู้ตายเอาเงินที่ทำมาหาได้ไปไถ่จำนองมาโจทก์คงให้การแก้ว่ายังเป็นสินเดิมของผู้ตายอย่างเดิม

นางผันยื่นคำร้องว่า เมื่อประมาณ 25 ปีมานี้ ผู้ร้องได้แต่งงานเป็นสามีภรรยากับนายนาคโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่างฝ่ายต่างมีสินเดิมตามบัญชีท้ายคำร้อง แต่ไม่มีบุตรด้วยกันและยังไม่ได้หย่าขาดจากกันเมื่อ พ.ศ. 2482 นายนาคได้จำเลยเป็นภรรยาอีกคนหนึ่งการจดทะเบียนสมรสตามที่จำเลยอ้างจึงเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีสิทธิจะได้ส่วนแบ่งสินสมรสและรับมรดกนายนาค ผู้ร้องกับโจทก์เท่านั้นเป็นทายาทได้รับมรดกคนละเท่า ๆ กัน เมื่อรวมทั้งสินเดิมและสินสมรสแล้ว ผู้ร้องได้รับเป็นเงิน 14,545 บาท 70 สตางค์ขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนแบ่งตามจำนวนนี้

โจทก์ได้ยื่นคำร้อง ขอให้ถือเอาคำร้องของนางผันเป็นเพิ่มเติมฟ้องโจทก์ และคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยด้วย

ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้นางผันเป็นผู้ร้องสอดและให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องและคำให้การได้

จำเลยให้การแก้เพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ว่า นางผันไม่ใช่ภรรยาผู้ตาย จำเลยไม่เคยทราบว่านางผันเป็นภรรยาของผู้ตาย หากจะเคยเป็นภรรยาผู้ตายมาก่อน นางผันก็ได้ทิ้งร้างหรือหย่าขาดจากสามีภรรยากับผู้ตายก่อนจำเลยได้จดทะเบียนสมรสแล้ว นางผันไปมีสามีใหม่และใช้นามสกุลอื่น ไม่เคยมาอยู่ร่วมกับผู้ตาย นางผันไม่มีทรัพย์สินเดิมหรือสินสมรสกับผู้ตายเลย

ในวันนัดชี้สองสถาน ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า ยอมให้กันเงินจำนวนหนึ่งของกองมรดกไว้เป็นเงิน 6,000 บาท เพื่อทำศพผู้ตายถ้าศาลพิพากษาว่า จำเลยเป็นภรรยาผู้ตายแล้วก็ให้จำเลยเป็นผู้จัดการศพนายนาคได้ ถ้าไม่ฟังดังนั้นก็ให้โจทก์และผู้ร้องเป็นผู้จัดการศพนายนาค

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า นางผัน ผู้ร้องเป็นภรรยานายนาคผู้วายชนม์โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ต่อมาเกิดแตกร้าวกัน นางผันจึงไปอยู่กับบิดามารดาของตน โดยไม่มีบุตรด้วยกัน และยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์กัน แม้จะปรากฏว่าทิ้งร้างกันไปกว่า 10 ปี และนางผันจะไปได้สามีใหม่ก็ตามก็อยู่ในลักษณะชู้ไม่ทำให้ขาดจากสามีภรรยากันได้ นายนาคได้จำเลยเป็นภรรยาโดยทางจดทะเบียน ในระหว่างที่นายนาคยังเป็นคู่สมรสของนางผันอยู่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1445(3) เป็นโมฆะตาม มาตรา 1490 จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกและจัดการศพนายนาคในฐานะภรรยา

เรื่องทรัพย์สินระหว่างนายนาคกับจำเลย เมื่อนายนาคได้จำเลยเป็นภรรยานั้น นายนาคมีที่ดินบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ 1113 กระบือ 3 ตัว ราคา 240 บาทก่อน จำเลยไม่มีทรัพย์สิ่งใดระหว่างอยู่ด้วยกันกระบือตายหมด เกิดทรัพย์ขึ้นใหม่ที่ยังเหลืออยู่คือ เรือชะล่า 1 ลำ ระหัด 1 ราง สีฝัด 1 เครื่อง ปืนลูกซอง 1 กระบอก กระบือ 2 ตัวเงินซื้อเรือนคืน 200 บาท ค่าซ่อมแซมเรือน 4,200 บาท ทรัพย์ที่เหลือนี้เมื่อหักค่ากระบือ 3 ตัวเสีย 240 บาทแล้ว จำเลยมีส่วนได้เป็นเจ้าของร่วมครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนายนาค

ส่วนทรัพย์ระหว่างนายนาคกับนางผันผู้ร้อง ต่างมีสินเดิมด้วยกันแต่ไม่มีสิทธิสมรสเกิดขึ้นเลย นางผันไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินที่เกิดระหว่างนายนาคกับจำเลย เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เกิดระหว่างตนกับนายนาค และจะเอาสินเดิมมาหักไม่ได้ ต้องหักโดยวิธีเฉลี่ยจากสินเดิมของนายนาคที่ยังเหลืออยู่

ศาลชั้นต้นพิพากษาดังนี้

1. การสมรสระหว่างนายนาคกับนางจัน จำเลยเป็นโมฆะ นางจันจำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายนาคในฐานะภรรยา

2. ให้จำเลยส่งกระบือ 2 ตัว ปืนลูกซอง 1 กระบอก เรือชะล่า 1 ลำ สีฝัด 1 เครื่อง ระหัดวิดน้ำ 1 ราง ที่ดินโฉนดที่ 1113 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร พร้อมด้วยเรือนและสิ่งปลูกสร้าง มีครัว โรงกระบือมาประมูลราคา เฉพาะกระบือ 2 ตัวปืนลูกซอง 1 กระบอก เรือชะล่า 1 ลำ สีฝัด 1 เครื่อง ระหัด1 ราง ให้ประมูลระหว่างโจทก์จำเลย หากไม่ตกลงกันให้ขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใด ให้หักชดใช้ค่ากระบือของนายนาค 3 ตัว ราคา 240 บาท ก่อนเหลือนั้นแบ่งให้จำเลยกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกนายนาค

3. เฉพาะเรือนนั้นให้ประมูลระหว่างโจทก์จำเลยกับนางผันผู้ร้องหากไม่ตกลงกันให้ขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้หักชดใช้ค่าซื้อและซ่อมแซมเรือนให้แก่จำเลยและนายนาคคนละ 2,200 บาท ส่วนที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งครัวและโรงกระบือ(นอกจากเรือน) ให้ประมูลระหว่างโจทก์กับนางผันผู้ร้อง หากไม่ตกลงให้ขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใด เอารวมกับเงินค่าขายเรือนที่เหลือจากแบ่งชดใช้ให้จำเลยกับนายนาค และค่ากระบือสินเดิมของนายนาค 3 ตัว ราคา 240 บาท ที่หักใช้มาจากทรัพย์สิน ระหว่างนายนาค นางจัน จำเลยในข้อ 2 แล้วเอาใช้สินเดิมของนายนาค 46,140 บาท สินเดิมของนางผันผู้ร้อง 3,110 บาท หากมีเงินเหลือก็ให้แบ่งให้นางผัน ผู้ร้องอีก 1 ใน 3 อีก 2 ใน 3 เป็นมรดกของนายนาค หากได้เงินสุทธิไม่พอแบ่งชดใช้สินเดิม ก็ให้แบ่งเฉลี่ยตามส่วนมากและน้อยของสินเดิมในราคาดังกล่าว

4. ส่วนแบ่งที่ตกได้แก่นายนาคตามข้อ 2 และ 3 จึงตกเป็นมรดกของนายนาค ให้กันเงินมรดกนี้ไว้เป็นค่าปลงศพ 6,000 บาท โดยให้ โจทก์และนางผัน ผู้ร้องเป็นผู้จัดการศพร่วมกัน เหลือจากกันไว้เป็นค่าปลงศพแล้ว จึงแบ่งให้โจทก์กับนางผัน ผู้ร้องคนละส่วนเท่า ๆ กันตามฟ้องและคำร้องของนางผัน

5. เรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความต่างให้เป็นพับไปคำขออื่นของทั้งสองฝ่ายนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ความว่า เมื่อประมาณ 25 ปีมานี้ นายนาคเจ้ามรดกได้แต่งงานเป็นสามีภรรยากัน กับนางผัน ผู้ร้องอยู่กินด้วยกันหลายปี สินเดิมของทั้งสองฝ่ายที่เป็นทองรูปพรรณก็ได้ใช้จ่ายหมดไปไม่เกิดสินสมรสในระหว่างกันเลย และไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมานางผันไปอยู่กับบิดามารดาของตน แล้วต่างคนก็ต่างอยู่ไม่ได้ไปมาหาสู่กันอีกจนนายนาควายชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2482 นายนาคได้นางจันจำเลยเป็นภรรยาโดยจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอ อยู่กินด้วยกันมีแต่ความเจริญเกิดทรัพย์ขึ้นหลายอย่าง คือเรือนของนายนาคเดิม นางวอนมารดาได้ยกถวายวัดก็ได้ซื้อคืนมาเป็นเงิน 200 บาท แล้วซ่อมแซมสิ้นเงินไป 4,200 บาท ที่ดินสินเดิมของนายนาค ๆ เอาไปประกันเงินกู้ไว้ ได้ไถ่คืนมาแล้วภายหลังนำไปจำนองสหกรณ์ก็ได้ไถ่คืนมาอีก มีกระบือ 2 ตัว ปืนลูกซอง 1 กระบอก เรือชะล่า 1 ลำสีฝัด 1 เครื่อง ระหัดวิดน้ำ 1 ราง แต่ไม่เกิดบุตรด้วยกันครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2495 นายนาควายชนม์ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ใคร โจทก์เป็นพี่และบุตรของนายนาคที่วายชนม์ไปก่อนแล้ว จึงเป็นโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนายนาคจากจำเลย อ้างว่า จำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายนาคจำเลยต่อสู้ว่า เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกในฐานะเป็นภรรยาด้วย นางผันยื่นคำร้องสอดเข้ามาว่าตนยังเป็นภรรยานายนาคอยู่ การจดทะเบียนสมรสของจำเลยเป็นโมฆะ ผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกนายนาคในฐานะภรรยาผู้เดียว จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมรดกด้วย

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อกฎหมายที่จำเลยคัดค้านก่อน จำเลยโต้แย้งว่า โจทก์และนางผัน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในวันชี้สองสถานคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เป็นปรปักษ์ขัดกับฟ้องเดิม และต่างประเด็นไม่เกี่ยวข้องกัน คำร้องสอดของนางผันก็เป็นปรปักษ์กับฟ้องโจทก์และคำให้การของจำเลย จะเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมก็ไม่ใช่ เป็นการผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นางผันผู้ร้องจะยื่นคำร้องเมื่อใดก็ได้ในระหว่างศาลพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของนางผันที่มีอยู่ ในฐานะที่อ้างว่าเป็นภรรยาของนายนาคเป็นการอ้างสิทธิเฉพาะตัวของนางผันอีกฝ่ายหนึ่งต่างหากจากโจทก์จำเลยจึงหาจำเป็นต้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมดังที่จำเลยกล่าวในอุทธรณ์ไม่ นางผันมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่านางผันได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีขึ้นใหม่อีกเรื่องหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 จำเลยก็มีสิทธิที่จะรับหรือต่อสู้คดีของนางผันได้ แต่ฝ่ายโจทก์ได้ขอแก้ฟ้องโดยถือเอาคำร้องของนางผันเป็นโจทก์ฟ้องด้วยซึ่งเท่ากับโจทก์รับตามคำร้องของนางผันนั้นเองและจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้คดีตามคำร้องของนางผันไว้แล้ว การยื่นคำร้องของนางผันและของโจทก์ แม้จะเป็นในวันนัดชี้สองสถานก็ตามแต่ศาลก็หาได้ชี้สองสถานในวันนั้นไม่ ได้สั่งให้เลื่อนวันชี้สองสถานไป จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องของผู้ร้องและของโจทก์นั้น หาได้เป็นการผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ไม่

ส่วนปัญหาที่ว่า นางผันผู้ร้องยังเป็นภรรยานายนาค ผู้ตายอยู่หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความชัดจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้แต่งงานกับนายนาคเมื่อ 25 ปีมานี้ จึงเป็นสามีภรรยากันก่อนใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พุทธศักราช 2477 เพราะพระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบิกษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2478 นับถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2495 ได้เพียง 16-17 ปีเท่านั้น เมื่อคิดหักแล้วผู้ร้องแต่งงานเป็นสามี ภรรยากับ นายนาคก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ถึง 8-9 ปี และได้ความว่า ผู้ร้องหาได้อยู่กินกับนายนาคโดยตลอดมาไม่ ทรัพย์สินเดิมที่เป็นทองรูปพรรณของทั้งสองฝ่ายก็ได้ใช้จ่ายหมดไป ไม่เกิดสมรสขึ้นเลย ผู้ร้องจากนายนาคไปก่อนนายนาคได้จำเลยเป็นภรรยา 7 ปี ตกใน พ.ศ. 2475-2476ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วมิได้กลับไปอยู่กินฉันท์สามีภรรยาต่อกันอีก ต่อมานายนาคได้จำเลยเป็นภรรยาใหม่ส่วนผู้ร้องก็ได้นายเย็นเป็นสามีใหม่ก่อนนายนาควายชนม์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อได้จากไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมียอย่างเก่าก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างหมดอาลัยในการที่จะเป็นสามีภรรยากันต่อไป นับแต่วันจากกันไป ถือได้ว่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจหย่าขาดจากสามีภรรยากันโดยเด็ดขาดแล้ว ผู้ร้องจะอ้างว่ายังเป็นภรรยานายนาคอยู่ก่อนนายนาควายชนม์ไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกนายนาค ส่วนจำเลยเป็นภรรยานายนาคโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของนายนาคในฐานะภรรยาร่วมกับโจทก์ ซึ่งเป็นทายาทอีกฝ่ายหนึ่ง และมีสิทธิจัดการปลงศพนายนาคสามีของตนได้

ทรัพย์สินระหว่างจำเลยกับนายนาคมีอะไรบ้างนั้น ปรากฏว่าเมื่อนายนาคได้จำเลยเป็นภรรยา นายนาคมีที่ดิน 1 แปลง บ้านเรือนและกระบือ 3 ตัว เป็นสินเดิม ส่วนจำเลยไม่มีสินเดิม เมื่อนายนาควายชนม์คงมีทรัพย์ตามที่ศาลชั้นต้นฟังมา คือเรือน ที่ดิน 1 แปลงพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งครัวและโรงกระบือซึ่งเป็นสินเดิมของนายนาค กับกระบือ 2 ตัว ปืนลูกซอง 1 กระบอก เรือชะล่า 1 ลำสีฝัด 1 เครื่อง ระหัดวิดน้ำ 1 ราง เงินซึ่งซื้อเรือนคืนมา 200 บาท ค่าซ่อมแซมเรือน 4,200 บาท ซึ่งเป็นราคาอยู่ในเรือนสินเดิม ทรัพย์เหล่านี้เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายนาค ส่วนกระบือ 3 ตัว สินเดิมของนายนาคตายหมด

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ว่า

1. ให้ยกคำร้องสอดของนางผันผู้ร้อง

2. เฉพาะเรือนสินเดิมของนายนาคนั้น มีสินสมรสปนอยู่เป็นเงิน 4,400 บาท ให้แบ่งแยกออกจากกัน โดยให้โจทก์จำเลยประมูลราคากัน ถ้าไม่ตกลงให้ขายทอดตลาดได้เงินเท่าใด หักเป็นเงินสมรส 4,400 บาท นอกนั้นเหลือเป็นสินเดิมของนายนาค และตกเป็นมรดก

3. สินสมรสคือเงิน 4,400 บาท ตามข้อ 2 กับกระบือ 2 ตัว ปืน 1 กระบอก เรือชะล่า 1 ลำ สีฝัด 1 เครื่อง ระหัดวิดน้ำ 1 รางให้หักใช้ค่ากระบือ 3 ตัว สินเดิมของนายนาค 240 บาทก่อนเหลือนั้นให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน เป็นสินสมรสของจำเลย 1 ส่วนเป็นสินสมรสของนายนาค 2 ส่วน ส่วนของนายนาคเป็นมรดก ให้แบ่งโดยประมูลราคากันถ้าไม่ตกลงกันให้ขายทอดตลาด

4. มรดกของนายนาคคือเงินค่าเรือนซึ่งเป็นสินเดิมของนายนาคตามข้อ 2 สินสมรสของนายนาค 2 ส่วน และเงินค่ากระบือ 240 บาทตามข้อ 3 ที่ดินโฉนดที่ 1113 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งครัวและโรงกระบือ (นอกจากเรือน)นั้นให้กันไว้เป็นค่าปลงศพนายนาค 6,000 บาท มอบให้จำเลยรับไปและเป็นผู้จัดการปลงศพ นายนาคไม่มีบุตร และบิดามารดาตายหมดแล้วให้แบ่งทรัพย์ที่เหลือจากปลงศพออกเป็น 2 ส่วน ให้เป็นของจำเลย1 ส่วน เป็นของโจทก์ 6 คน 1 ส่วน วิธีแบ่งให้ประมูลราคากัน ถ้าไม่ตกลงกันก็ให้ขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินกันตามส่วนดังกล่าวแล้ว

5. ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายทั้ง 2 ศาล ให้เป็นพับไปคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และนางผันผู้ร้องสอดฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้ว โจทก์และนางผัน ผู้ร้องสอดคัดค้านในชั้นนี้ 2 ข้อ คือ 1. จำเลยให้การต่อสู้ซึ่งเกี่ยวกับฐานะของนางผันผู้ร้องสอดเคลือบคลุม จึงไม่มีประเด็นจะนำสืบได้ และ 2.นางผันผู้ร้องยังคงเป็นภรรยานายนาค โดยชอบด้วยกฎหมาย ก่อนนายนาควายชนม์ย่อมมีสิทธิรับมรดก ในข้อ 1 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำให้การจำเลยซึ่งเกี่ยวกับนางผัน ผู้ร้องแล้ว จำเลยต่อสู้ว่านางผันไม่ใช่ภรรยาของผู้ตายจำเลยไม่เคยทราบว่านางผันเป็นภรรยาของผู้ตาย หากจะเคยเป็นภรรยาผู้ตายมาก่อนนางผันก็ได้ทิ้งร้างหรือหย่าขาดจากสามีภรรยากับผู้ตายแล้วเช่นนี้เป็นการปฏิเสธว่านางผันไม่ใช่เป็นภรรยาของผู้ตายอันควรจะได้รับมรดกหาเป็นคำให้การเคลือบคลุมไม่ ส่วนข้อ 2 ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของนางผันเอง ว่าได้เป็นสามีภรรยากับนายนาค ผู้ตายเมื่อประมาณ 25 ปีมานี้ ซึ่งเป็นเวลาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต่อมานางผันได้จากนายนาคไปก่อนนายนาคได้จำเลยเป็นภรรยาประมาณ 7 ปีเศษโดยทะเลาะกับนายนาคและนางวอนมารดานายนาค ปรากฏว่านายนาคจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2482 เมื่อคิดคำนวณดูนางผันจากนายนาคไปในราว พ.ศ. 2475หรือ พ.ศ. 2476 เป็นการจากไปตามกฎหมายลักษณะผัวเมียอย่างเก่าแล้วมิได้กลับไปอยู่กินฉันท์สามีภรรยากับนายนาคอีกเลย ต่อมานายนาคได้จำเลยเป็นภรรยา ส่วนนางผันก็ได้นายเย็นเป็นสามีก่อนนายนาคตายแสดงให้เห็นถึงเจตนาของทั้งสองฝ่ายว่า ต่างสมัครใจหย่าขาดจากสามีภรรยากันตั้งแต่วันที่นางผันจากไปโดยเด็ดขาดแล้ว นางผันผู้ร้องจึงไม่ใช่เป็นภรรยาของนายนาค ผู้ตายอันควรมีสิทธิได้รับมรดก แต่จำเลยเป็นภรรยาของนายนาคโดยชอบด้วยกฎหมาย

จึงให้ยกฎีกาของโจทก์และนางผันผู้ร้อง โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้นางผันผู้ร้องเสียค่าทนายความในชั้นนี้แทนจำเลยเป็นเงิน 200 บาท นอกนั้นให้เป็นพับไป

Share