คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1001/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่มีผู้เห็นจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่หายไปโดยมีนาย อ. เป็นคนขับในวันรุ่งขึ้นจากที่รถหาย และในตอนเย็นหลังจากวันที่รถหายได้ 1 วัน บุตรชายของนาย ย. ได้พาเพื่อน4 คนไปที่บ้านของนาย ย. พร้อมกับรถคันที่หายโดยมีจำเลยไปด้วยจำเลยค้างที่บ้านของนาย ย.2 คืน แล้วกลับไปก่อน ส่วนคนอื่นค้าง 3 คืน เมื่อจำเลยกลับไปแล้ว รถคันที่หายก็ยังอยู่ที่บ้านของนาย ย. และในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดชิ้นส่วนรถที่บ้านของนาย ย. ไม่เห็นจำเลย ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยไปกับคนร้ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335,357 และให้จำเลยร่วมกับนายเอ๋หรือพงษ์ศักดิ์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 348/2532 ของศาลชั้นต้นคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนราคา 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ยังไม่สมควรลงโทษจำเลยให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดอุบลราชธานีมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75ให้จำเลยร่วมกับนายเอ๋หรือพงษ์ศักดิ์ นิสภา จำเลย คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 348/2532 ของศาลชั้นต้น คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 32,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23มีนาคม 2532 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2532 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับนายเอ๋หรือพงษ์ศักดิ์ และยึดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่หายจากบ้านนายยวน กล่อมจิตต์ ได้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหรือไม่ นายภานุพงษ์ หงษ์ไทย และนายดาบตำรวจแสวงแสงภักดี พยานโจทก์เบิกความว่าเห็นจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถคันที่หายโดยมีนายเอ๋หรือพงษ์ศักดิ์เป็นคนขับในวันรุ่งขึ้นจากที่รถหายและนายยวน กล่อมจิตต์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ในวันที่24 มีนาคม 2532 ตอนเย็นบุตรชายของพยานได้พาเพื่อน 4 คน ไปที่บ้านพร้อมกับรถคันที่หายโดยมีจำเลยไปด้วย จำเลยค้างที่บ้าน 2 คืนแล้วกลับไปก่อน ส่วนคนอื่นค้าง 3 คืน เมื่อจำเลยกลับไปแล้วรถคันที่หายก็ยังอยู่ที่บ้านพยาน และในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดชิ้นส่วนรถที่บ้านพยานไม่เห็นจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยไปกับคนร้ายแต่การกระทำของจำเลยตามพยานหลักฐานของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ่งรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ส่วนที่นายภานุพงษ์ หงษ์ไทย พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2532 พยานพบจำเลยที่ตลาด จำเลยบอกว่ารถที่ขโมยไปนั้นคนที่ขโมยจะนำมาส่งในวันที่ 29 นั้น ฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยรู้เรื่องการลักรถเท่านั้น แต่จำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรถคันที่หาย และตามคำให้การชั้นสอบสวน เอกสารหมาย จ.8จำเลยให้การว่า จำเลยได้ไปเที่ยวกับคนร้ายที่ลักรถเท่านั้นพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย
พิพากษายืน

Share