แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมิได้ถูกขืนใจให้เสพยาม้า และจำเลยก็รู้ว่ายาม้ามีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ เมื่อเสพแล้วจะไม่ง่วงนอน แต่จำเลยก็ยังซื้อมาเสพร่วมกับการดื่มสุรา จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเสพโดยรู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมาและมิได้ถูกขืนใจให้เสพ ดังนั้นจำเลยไม่อาจยกเอาความมึนเมาดังกล่าวเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 66
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้ลงโทษจำคุก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ได้รับการยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 66 หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น” และมาตรา 66 บัญญัติว่า “ความมึนเมาเพราะเสพสุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา 65 ไม่ได้เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพโดยถูกขืนใจให้เสพ” ยาม้าที่จำเลยเสพเป็นสิ่งมึนเมาอย่างหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความจากนางนิภาพยานโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 จำเลยกับนางนิภาและบุตรทั้งสองออกเดินทางจากจังหวัดชุมพร โดยนั่งรถที่นายสมเกียรติเพื่อนของจำเลยเป็นคนขับ ระหว่างทางจำเลยกับเพื่อนได้ดื่มสุราด้วยกันและจำเลยขอเงินไปซื้อยาม้ามาเสพด้วยโดยผสมใส่ขวดกระทิงแดงเมื่อถึงจังหวัดนครราชสีมา ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยกับเพื่อนก็ดื่มสุราและซื้อยาม้ามาเสพอีก แสดงว่าจำเลยมิได้ถูกขืนใจให้เสพจำเลยเองก็รู้ว่ายาดังกล่าวมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ เมื่อเสพแล้วจะไม่ง่วงนอน แต่จำเลยก็ยังซื้อมาเสพร่วมกับการดื่มสุรา จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเสพโดยรู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมาและมิได้ถูกขืนใจให้เสพ จำเลยจึงไม่อาจยกเอาความมึนเมาดังกล่าวเป็นข้อแก้ตัวเพื่อไม่ต้องรับโทษได้
พิพากษายืน