แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยลงชื่อและลงวันที่ย้อนหลังในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านเป็นการกระทำในระหว่างที่จำเลยย้ายไปรับราชการที่อำเภออื่นแล้ว จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างใดที่กิ่งอำเภอเดิมอีก และการลงวันที่ย้อนหลังนั้นจำเลยมีเจตนาให้เห็นว่าบุคคลเข้ามามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านระหว่างที่จำเลยรับราชการอยู่ที่กิ่งอำเภอเดิมซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปอ้างและแสดงต่อ ฉ. เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพทำบัตรประจำตัวประชาชน จน ฉ. เชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้ถ่ายภาพและออกใบแทนบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลนั้นไป ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้เอกสารราชการปลอมแล้ว
จ. เป็นคนสัญชาติลาวและจำเลยพาไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเป็นการช่วยเหลือคนต่างด้าวซึ่งรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองมิให้ถูกจับกุม
การที่จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารก็ดี ใช้เอกสารปลอมก็ดี ก็เพื่อช่วยเหลือคนต่างด้าวให้มีบัตรประจำตัวเช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อมิให้ถูกจับกุมอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 63 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วย มาตรา 265ซึ่งเป็นบทหนัก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกระทงกล่าวคือ จำเลยบังอาจปลอมเอกสารราชการโดยเพิ่มเติมชื่อของบุคคลต่างด้าวสัญชาติลาว 3 คน คือนายอนุรักษ์ พัฒนะนิยม นายเดชวรนุช และนางจิตร ศิริสุข และเพิ่มเติมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวแก่ความเกี่ยวพันกับหัวหน้าครอบครัว วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ชื่อบิดามารดา ผู้ให้กำเนิด และสัญชาติบิดามารดาผู้ให้กำเนิดบุคคลทั้งสามดังกล่าวลงในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 124 หมู่ที่ 7 ตำบลโซ่ กิ่งอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง แล้วจำเลยเขียนลายมือชื่อย่อของจำเลยกำกับลงในช่องลงชื่อนายทะเบียนพร้อมทั้งเขียนวันเดือนปีย่อกำกับไว้ใต้ลายมือชื่อย่อของจำเลยย้อนไปเป็นวันที่ 10 กันยายน2515 ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ท้ายฟ้องทั้งนี้จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่อันจะกระทำได้ และจำเลยได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยกระทำขึ้นในระหว่างจำเลยเคยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอประจำกิ่งอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย เมื่อจำเลยได้ปลอมทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านขึ้นแล้ว จำลยได้บังอาจนำเอาเอกสารดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับไปใช้และอ้างต่อนายแฉล้ม รัตนชัย เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปทำบัตรประจำตัวประชาชนประจำกิ่งอำเภอโซ่พิสัยว่าเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง ขอให้นายแฉล้ม รัตนชัยออกใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและถ่ายรูปเพื่อทำบัตรดังกล่าวให้แก่บุคคลทั้งสามซึ่งมีสัญชาติลาวที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวในฐานะเป็นคนไทย และจำเลยได้พาบุคคลทั้งสามไปพบนายแฉล้ม รัตนชัยในขณะนั้นด้วย นายแฉล้ม รัตนชัยหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงออกใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและถ่ายรูปเพื่อทำบัตรดังกล่าวให้แก่บุคคลทั้งสามตามที่จำเลยขอ การปลอมและการใช้เอกสารดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายแฉล้ม รัตนชัย ตลอดจนนายทะเบียนตำบลโซ่ กิ่งอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้จำเลยยังบังอาจช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวทั้งสามซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเพื่อมิให้ถูกจับกุม โดยจำเลยปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือบุคคลสัญชาติลาวทั้งสามคนนั้นมีบัตรประจำตัวประชาชนของคนสัญชาติไทยไว้ใช้ประจำตัว เพื่อป้องกันมิให้ถูกเจ้าพนักงานจับกุมไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มาตรา 63
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,268แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 268 กระทงเดียว จำคุก 1 ปี และผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อมิให้ถูกจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 63 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน คำเบิกความของจำเลยในชั้นศาลประกอบกับจำเลยเป็นข้าราชการเคยทำประโยชน์แก่ทางราชการมาก่อน ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมจริงหรือไม่ กับจำเลยกระทำผิดฐานให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวมิให้ถูกจับกุมจริงหรือไม่ ในเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารราชการปลอมนั้น จำเลยได้เบิกความยอมรับว่าได้ลงชื่อและลงวันเดือนปีในช่องนายทะเบียนตามทะเบียนบ้านฉบับของที่ว่าการกิ่งอำเภอโซ่พิสัยเอกสารหมาย จ.1 และสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 ในรายการช่องบุคคลที่ 9, 10 และ 11 จริง แต่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่าจำเลยได้เป็นผู้เขียนและลงชื่อไว้เมื่อปี พ.ศ. 2515 ความข้อนี้โจทก์มีพยานคือนายสมพร มังศรี กำนันตำบลโซ่และเป็นนายทะเบียนตำบลทั้งเป็นเจ้าของบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.2 ว่าเมื่อวันอาทิตย์ของเดือนกันยายน 2518 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยย้ายจากกิ่งอำเภอโซ่พิสัยไปรับราชการที่อำเภอโพนพิสัยแล้ว จำเลยได้มาที่บ้านของนายสมพร ขอยืมสำเนาทะเบียนบ้านของนายสมพรตามเอกสารหมาย จ.2 ไป โดยอ้างว่าจะเอาไปตรวจสอบกับทะเบียนบ้านฉบับที่อำเภอ นายสมพรยืนยันว่าขณะที่มอบให้จำเลยไปนั้น มีชื่อบุคคลในสำเนาทะเบียนบ้านเพียง 8 คนจากบุคคลที่ 1 ถึงบุคคลที่ 8 เท่านั้น รุ่งขึ้นจึงทราบจากนายเรียบ บุญรินทร์เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตหนองคายว่าเห็นคน3 คน มีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านของนายสมพรเพิ่มขึ้น โดยบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ไปถ่ายรูปและทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ ที่ว่าการกิ่งอำเภอโซ่พิสัย นายสมพรสงสัยจึงไปตรวจดูทะเบียนบ้าน ณ ที่ว่าการกิ่งอำเภอดังกล่าวก็พบว่ามีการเพิ่มชื่อนายอนุรักษ์ พัฒนะนิยม นายเดช วรนุช และนางจิตรศิริสุข เป็นบุคคลที่ 9,10 และ 11 ลงในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จริง ทั้งนายสมพรจำได้ว่าในช่องนายทะเบียนและลายมือชื่อเพิ่มชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นลายมือของจำเลย โดยลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่ 10 กันยายน 2515 ซึ่งตามวันที่ดังกล่าวจำเลยยังเป็นปลัดอำเภออยู่ที่กิ่งอำเภอแห่งนี้ นอกจากนี้ได้ความจากนายเรียบ บุญรินทร์หัวหน้าชุดข่าวสารเคลื่อนที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตหนองคาย สิบตำรวจโทโอกาส นาไพรวรรณ ว่าเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 เวลาประมาณ 11 นาฬิกาซึ่งเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ บุคคลทั้งสองนั่งสนทนาอยู่ที่ชั้นล่างของที่ว่าการกิ่งอำเภอโซ่พิสัย มีรถยนต์เก๋งมาจอดข้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ มีคนนั่งในรถรวม 5 คนทั้งคนขับ เป็นหญิง 1 คน พยานโจทก์ทั้งสองรู้จักจำเลยคนเดียว จำเลยเดินเข้าไปในที่ว่าการกิ่งอำเภอ จำเลยบอกนายเรียบว่ามาย้ายทะเบียนบ้าน จำเลยเดินขึ้นไปชั้นบนครู่หนึ่งกลับลงมาแล้วเดินออกจากที่ว่าการกิ่งอำเภอไปยังบ้านพักของที่ว่าการ อีกประมาณ 20 นาที จำเลยกลับมาพร้อมกับนายแฉล้ม รัตนชัย ความตอนนี้นายแฉล้มเบิกความว่าตนทำหน้าที่ผู้ช่วยแผนกบัตรประจำตัวประชาชน มีหน้าที่ถ่ายรูปผู้มาขอบัตร ล้างฟิล์มและส่งฟิล์ม ในเดือนกันยายน 2518 ประมาณกลางเดือนเวลาประมาณ 11 นาฬิกาเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ นายแฉล้มอยู่ที่บ้านพัก จำเลยไปเรียกนายแฉล้ม บอกว่าให้ไปถ่ายรูปทำบัตรให้ญาติ 3 คน บอกให้ไปทำเร็ว ๆ นายแฉล้มถามว่ามีหลักฐานทางทะเบียนหรือไม่ จำเลยตอบว่ามี นายแฉล้มจึงไปที่ว่าการกิ่งอำเภอพร้อมจำเลย พบผู้มาขอทำบัตรประจำตัวประชาชน 3 คนเป็นชาย 2 คนหญิง 1 คน จำเลยยื่นสำเนาทะเบียนบ้านฉบับของนายสมพรกับฉบับของที่ว่าการกิ่งอำเภอให้ตรวจดูและบอกว่าคนที่มาขอทำบัตรคือนายอนุรักษ์ นายเดชและนางจิตร ในที่สุดนายแฉล้มได้ถ่ายรูปให้บุคคลทั้งสามแล้วมอบใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน (แบบ บ.ป.2) ให้บุคคลทั้งสามไป จำเลยกลับไปพร้อมกับบุคคลทั้งสาม ตอนนั้นมีนายเรียบและสิบตำรวจโทโอกาสอยู่ด้วย พยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือนายอุดม บูรณปิยะวงศ์ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอโซ่พิสัยเบิกความว่า จำเลยย้ายไปจากกิ่งอำเภอโซ่พิสัยไปอยู่อำเภอโพนพิสัยก่อนเกิดเหตุนานประมาณ 3 – 4 เดือนแล้ว ในช่องนายทะเบียนตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 พยานจำลายมือได้ว่าเป็นจำเลย โดยลงย้อนหลังไปเป็นวันที่ 10 กันยายน 2515 และในช่องย้ายเข้าของเอกสารดังกล่าวไม่มีหลักฐานการย้ายเข้าของบุคคลทั้งสาม คงทิ้งว่างไว้อันเป็นการไม่ถูกต้องและบุคคลทั้งสามซึ่งอยู่ในลำดับที่ 9,10 และ 11 นั้น มีชื่ออยู่ภายหลังบุคคลลำดับที่ 8 ของเอกสารดังกล่าวแต่ตามวันเดือนปีที่เข้ามาอยู่ กลายเป็นเข้าอยู่ก่อนบุคคลลำดับที่ 8 เห็นว่าไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน จากหลักฐานพยานโจทก์ดังกล่าวมาเห็นว่าโจทก์นำสืบมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้มาลงชื่อและลงวันที่ย้อนหลังในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน เป็นการกระทำในระหว่างที่จำเลยย้ายไปรับราชการที่อำเภอโพนพิสัยแล้ว จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่อย่างใดที่กิ่งอำเภอโซ่พิสัยอีก และการลงวันที่ย้อนหลังนั้น จำเลยมีเจตนาจะให้เห็นว่าบุคคลทั้งสามเข้ามามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านระหว่างที่จำเลยรับราชการอยู่ที่กิ่งอำเภอโซ่พิสัยซึ่งไม่เป็นความจริง ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยลงชื่อและเขียนข้อความในเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 และ นำสืบว่าเหตุที่ทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 มิได้ลงรายการว่าบุคคลทั้งสามย้ายมาจากที่ใดนั้นเพราะจำเลยลืมไป เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ประกอบทั้งพยานจำเลยคือนายอนันต์ แจ้งกลีบ นายอำเภอโพนพิสัยเบิกความว่าการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านของผู้อื่นต้องให้เจ้าบ้านยินยอมด้วย ถ้าไม่ยินยอมนายทะเบียนจะเอาเข้าทะเบียนบ้านไม่ได้และไม่ยอมลงชื่อให้ ตามปกติเมื่อเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านแล้ว นายทะเบียนจะต้องลงหลักฐานว่าย้ายมาจากที่ใดเมื่อใดด้วยโดยลงชื่อและวันที่กำกับไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ไม่มีรายการว่าย้ายมาจากที่ใด ฉะนั้นการกรอกชื่อบุคคลลำดับที่ 9,10 และ 11 ในเอกสารดังกล่าวจึงทำไม่ถูกต้องพยานจำเลยดังกล่าวเจือสมกับพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าเสมียนได้นำใบแจ้งย้ายมาเสนอต่อจำเลยก่อนที่จำเลยจะลงชื่อในช่องนายทะเบียนนั้นก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้อ้างเสมียนผู้นั้นมาเป็นพยาน ข้ออ้างของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปอ้างและแสดงต่อนายแฉล้ม เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพทำบัตรประจำตัวประชาชน จนนายแฉล้มเชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้ถ่ายภาพและออกใบแทนบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลทั้งสามไป ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้เอกสารราชการปลอมจริงดังฟ้อง ส่วนข้อหาช่วยเหลือคนต่างด้าวโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเพื่อมิให้ถูกจับกุมนั้น จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าบุคคลทั้งสามเป็นคนไทย เดิมอยู่หมู่บ้านน้ำเป ตำบลรัตนวาปีอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 ทั้งยังมีหนังสือของผู้ใหญ่บ้านน้ำเปถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหนองคายแนบหนังสือรับรอง 1 ฉบับว่าบุคคลทั้งสามเกิดที่บ้านน้ำเป เป็นบุคคลมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ความข้อนี้เห็นว่า เฉพาะสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 นั้นออกให้โดยนายประเวศ นาคเสนนายทะเบียนอำเภอ อำเภอโพนพิสัย มีข้อสังเกตว่าเพิ่งออกให้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2520 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายอนันต์ นายอำเภอโพนพิสัยพยานจำเลยเบิกความว่า บุคคลทั้งสามดังกล่าวที่มีชื่ออยู่ในเอกสารหมาย ล.1 จะเป็นบุคคลคนเดียวกับภาพถ่ายของบุคคลทั้งสามในเอกสารหมาย จ.13 หรือไม่นายอนันต์ไม่ทราบ แต่กลับยืนยันว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอโพนพิสัยแล้ว ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่กิ่งอำเภอโซ่พิสัยอีก พยานจำเลยปากนี้นอกจากไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลยแล้ว ยังเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์อีกด้วย ส่วนเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เป็นหนังสือส่วนตัวจากนายพรหมมา ธงชัย ผู้ใหญ่บ้านน้ำเปเขียนถึงศาลจังหวัดหนองคายแนบหนังสือรับรองว่าบุคคลทั้งสามเกิดที่บ้านน้ำเป แต่เอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้จะเป็นลายมือชื่อของนายพรหมมา จริงหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัยเพราะลายมือที่เขียนทั้งหมดกับลายมือชื่อนายพรหมมา ผิดแผกแตกต่างกันมาก แสดงว่าผู้เขียนกับผู้ลงชื่อเป็นคนละคนกัน ทั้งนายพรหมมามิได้มาเบิกความเป็นพยานจำเลยในชั้นศาล คงมีแต่นายศักดิ์ชัย สีไพรงาม อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาเบิกความว่า นายพรหมมาถึงแก่กรรม 3-4 เดือนมาแล้ว เคยเห็นลายมือชื่อของนายพรหมมาและลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.3 เป็นลายมือชื่อของนายพรหมมาจริง แต่เป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนและไม่มีหลักฐานเกี่ยวแก่การถึงแก่กรรมอันเป็นเอกสารของทางราชการมาแสดงต่อศาล ทั้งนายศักดิ์ชัยเองยังเบิกความว่า บุคคลตามสำเนาทะเบียนบ้านหมาย ล.1 ซึ่งนายหนูดำ ศรีสุหาเป็นหัวหน้าครอบครัวนั้น บ้านดังกล่าวถูกน้ำเซาะตลิ่งพังไปแล้ว ครอบครัวนี้ทั้งหมดจึงย้ายไปอยู่ประเทศลาว 3-4 ปีมาแล้ว ดังนั้น ดังเอกสารหมาย ล.1 ถึง 3 ที่จำเลยอ้างมา เมื่อเปรียบเทียบกับสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3300/2519 ของศาลจังหวัดหนองคายซึ่งพนักงานอัยการฟ้องนางจิตร ศิริสุข ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยโจทก์อ้างมาเป็นพยานในคดีนี้ เห็นว่าหลักฐานฝ่ายโจทก์มั่นคงดีกว่า เพราะนางจิตรให้การรับสารภาพต่อศาลว่าเป็นคนต่างด้าว เชื่อชาติลาว สัญชาติลาว ได้เดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษ คดีถึงที่สุดแล้ว แม้จะไม่ได้นายอนุรักษ์กับนายเดชมาฟ้องด้วยก็ตาม เพียงแต่ได้ตัวนางจิตรแต่ผู้เดียวมาดำเนินคดีต่อศาล ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะฟังว่าจำเลยช่วยเหลือคนต่างด้าวจริงดังโจทก์ฟ้อง ทั้งได้ความจากร้อยตำรวจเอกเทียบ โลหะปาน พนักงานสอบสวนคดีนี้ว่าเมื่อจับตัวนางจิตรได้ สอบสวนนางจิตรก็รับว่าเป็นคนลาวตามเอกสารหมาย จ.24 จึงจัดให้มีการชี้ตัวจำเลย นางจิตรชี้ตัวจำเลยถูกต้องและยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้พาไปทำบัตรประจำตัวประชาชน ปรากฏตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.6 ส่วนนายอนุรักษ์กับนายเดชได้หลบหนีไป ยังจับตัวไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางจิตร ศิริสุขเป็นคนสัญชาติลาวและจำเลยพาไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเป็นการช่วยเหลือคนต่างด้าวซึ่งรู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเพื่อมิให้ถูกจับกุมจริงดังฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารก็ดี ใช้เอกสารปลอมก็ดี ก็เพื่อช่วยเหลือคนต่างด้าวให้มีบัตรประจำตัวเช่นเดียวกับคนสัญชาติไทย ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวนี้เป็นความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อมิให้ต้องถูกจับกุม อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 63 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 และผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อมิให้ถูกจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 63 แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี 6 เดือนลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ฯลฯ