คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 100/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คนต่างด้าวจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของคนไทย หารือไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าตนได้สัญชาติไทยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ปฏิเสธ เป็นแต่แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่โต้แย้งสิทธิ และ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ไม่มีบทบัญญัติให้ใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเช่นนี้ คนต่างด้าวฟ้องขอให้แสดงว่าตนได้สัญชาติไทยไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องที่ขอให้แสดงว่าโจทก์ได้สัญชาติไทย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาคงมีว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาลหรือไม่ จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายได้บัญญัติรับรองสิทธิของโจทก์ไว้ และโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้สิทธินั้นทางศาลพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ไม่มีบทบัญญัติให้คนต่างด้าวมาใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติ กรณีของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องจะต้องใช้สิทธิทางศาล ส่วนที่ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์มีหนังสือไปถึงจำเลยโดยแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุข บางขุนเทียน ผู้มีสัญชาติไทย โจทก์จึงน่าจะได้สัญชาติไทยเช่นเดียวกับหญิงต่างด้าวที่จดทะเบียนสมรสกับผู้มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 โจทก์จึงขอทราบว่าโจทก์จะได้รับผลตามกฎหมายในเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษหรืออย่างน้อยจะได้สิทธิเท่าเทียมกับหญิงต่างด้าวที่จดทะเบียนสมรสกับผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องหารือเมื่อจำเลยตอบโจทก์ว่าไม่มีกฎหมายไทยรับรองให้ทำได้ ก็เป็นเรื่องแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อโต้แย้ง คดีของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล คำฟ้องของโจทก์ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55”

พิพากษายืน

Share