คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนไม่ทันภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุม พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องไว้ 3 คราว แต่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและขอให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหาไปก่อนครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 3 และศาลได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปแล้ว โดยมิได้ขอผัดฟ้องต่อไปอีกกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าคดีนี้พ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิ แล้ว และไม่ว่ากรณีพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ก็ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 24 ทวิ ทั้งสิ้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 มาใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีได้จักต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการตามมาตรา 24 จัตวา

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) ตามคำบรรยายฟ้องกล่าวว่า จำเลยถูกจับวันที่ 11 ธันวาคม 2520 ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันจับถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2520 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขอผัดฟ้องไว้แล้วตามคำร้องที่ ผ.21/2521 แต่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จึงขอปล่อยตัวจำเลยไป โจทก์มีคำสั่งฟ้องจึงได้ส่งตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้องโดยไม่ต้องขออนุญาตฟ้องคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามรายงานเจ้าหน้าที่ไม่ปรากฏว่าได้มีการขอผัดฟ้อง ฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 24 ทวิ และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 24 จัตวา จึงไม่รับฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลอนุญาตให้พนักงานสอบสวนผัดฟ้องถึง 3 ครั้งต่อมาพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องจึงขอให้ศาลปล่อยตัวไป ครั้นโจทก์สั่งฟ้องจึงได้จัดการให้ได้ตัวจำเลยมาฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 โดยไม่ขออนุญาตฟ้องคดีต่ออธิบดีกรมอัยการ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2520 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอผัดฟ้องคดีนี้ติดต่อกันมา 3 ครั้ง ครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 3 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2521 ก่อนครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 3 พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จึงขอให้ศาลปล่อยตัวจำเลยไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2521 หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนมิได้ขอผัดฟ้องจำเลยอีกแต่พนักงานอัยการโจทก์มีความเห็นสั่งฟ้อง จึงยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2521 แล้ววินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 24 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 8 กำหนดระยะเวลายื่นฟ้องคดีเด็กและเยาวชนไว้ดังนี้คือ เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดแล้ว พนักงานอัยการจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนให้ทันภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม ในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาให้ทันภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกิน 15 วัน แต่ต้องไม่เกิน 2 คราว เมื่อศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องครบสองคราวแล้ว พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยังมีสิทธิขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกถ้ามีเหตุจำเป็นโดยนำพยานมาเบิกความประกอบจนเป็นที่พอใจแก่ศาลและศาลมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกิน 15 วันแต่ต้องไม่เกิน 2 คราว เว้นแต่คดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นศาลจะสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องกี่คราวก็ได้ ตามข้อเท็จจริงปรากฎว่าพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ไม่ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุม พนักงานสอบสวนจึงได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องไว้ถึง 3 คราวถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2521 แต่พนักงานสอบสวนขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2521 อ้างว่าสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ต่อจากนั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ได้ขอผัดฟ้องต่อไปอีก กรณีนี้ต้องถือว่าคดีนี้พ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิแล้ว และไม่ว่ากรณีพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาก็ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 24 ทวิทั้งสิ้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 มาใช้บังคับหาได้ไม่ โจทก์จะฟ้องคดีได้จักต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 24 จัตวาแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2506 มาตรา 8 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share