คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องนายจ้างให้รับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งการละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำนั้น จะต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง.
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้าง สมคบกันเอาเพลิงจุดเผาป่าในสวนของจำเลยที่ 1 โดยประมาท เป็นเหตุให้ไฟไหม้สวนของโจทก์ดังนี้ ไม่เป็นคำบรรยายฟ้องอันจะพึงให้นายจ้างต้องรับผิดตาม ม. 425.
ศาลต้องพิพากษาชี้ขาดคดีตามข้อหาและประเด็นในคำฟ้อง เมื่อฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นที่จะให้จำเลยต้องรับผิดแล้ว ก็ต้องยกฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายแช่มจำเลยเป็นนายจ้าง นายแฉ้จำเลยเป็นลูกจ้างอยู่ในสวนของนายแช่ม จำเลยที่ ๒ สมคบกันเอาเพลิงจุดเผาป่าในสวนของจำเลยโดยประมาทเป็นเหตุให้เพลิงไหม้มันสำปะหลังของโจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ภายหลังนายแฉ้จำเลยหลบหนี โจทก์จึงถอนฟ้องฉะเพาะนายแฉ้จำเลย.
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายแช่มจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายแฉ้จำเลยผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยประมาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ นายแช่มหาได้สมคบด้วยไม่ จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ต้องฟังว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมมือกระทำผิดด้วยกันทั้งคู่ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า นายแฉ้จำเลยได้กระทำการละเมิด ในทางการที่นายแช่มจำเลยจ้างไว้ ฟ้องของโจทก์ขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่ถึงกระทำให้จำเลยต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยฟ้องไม่ได้ จึงพิพากษายืน ให้ยกฟ้อง.

Share