คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญมาตรา 62 ซึ่งบัญญัติว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เป็นข้อบัญญัติตัดอำนาจศาลที่จะตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ศาลจึงมีอำนาจตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้
ในการใช้หรือบังคับตามกฎหมายนั้น ศาลย่อมต้องแปลหรือตีความหมายของกฎหมาย หากไม่ให้ศาลแปล ศาลก็ย่อมใช้กฎหมายไม่ได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 14 มีข้อความรับรองถึงเสรีภาพของบุคคลในการต่างๆ ดังระบุไว้นั้น มีความหมายรับรองถึงเสรีภาพในการกระทำด้วย
คำว่ามีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 14นั้นมีความหมายว่า ไม่ให้ใครมาทำอะไรแก่เราและหมายถึงเราจะทำอะไรก็ได้ด้วย หากการนั้นอยู่ภายในบังคับของกฎหมาย
คำว่าภายในบังคับแห่งกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 14 นั้นหมายถึงว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้ โดยตรงหรือโดยอ้อม และหมายถึงบทกฎหมายที่มีอยู่ในเวลานั้น ไม่ใช่หมายถึงบทกฎหมายที่จะมีมาภายหน้า
กฎหมายใดบัญญัติย้อนหลัง ลงโทษการกระทำ การเขียนการพูดฯลฯ ที่แล้วมา ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 14 กฎหมายนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ จะใช้บังคับไม่ได้
พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังนั้น ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 14 จึงเป็นโมฆะส่วนบทบัญญัติที่ว่าด้วยการกระทำหลังจากใช้พระราชบัญญัตินี้แล้ว เป็นอันใช้บังคับได้โดยสมบูรณ์
สภาผู้แทนราษฎรอาจออกกฎหมายย้อนหลังได้ต่อเมื่อกฎหมายที่ให้ย้อนหลังนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่นพระราชบัญญัติงบประมาณ
ศาลเป็นผู้มีอำนาจที่จะชี้ขาดกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามอย่างเดียว เมื่อศาลเห็นว่า จะลงโทษตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามไม่ได้แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาว่า จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่

Share