คำสั่งคำร้องที่ 958/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยทั้งฉบับ เป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จึงไม่รับ จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 2 ที่ว่า จำเลยร่วมกันกับนายปอนหรือศักดิ์สิทธิลาวิลาศ จัดหางานให้คนหางานอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน หรือไม่ และฎีกาข้อ 3 ที่ว่า คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุม จะลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ ฎีกาทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายและเป็นสาระแก่คดี โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกา ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 107) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนงาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30,82ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 3 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 103) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 107)

คำสั่ง จำเลยฎีกาในข้อ 2 ว่าพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่โจทก์นำสืบ แสดงว่านายปอนมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจำเลยกับนายปอนเพียงแต่อ้างการจัดหางานเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่าบริการ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดหางาน โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย มีผลเท่ากับ เป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา ส่วนฎีกาข้อ 3 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมมาวินิจฉัย ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์แล้วฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฯ จำเลยกลับฎีกาว่าแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพชั้นจับกุม เมื่อโจทก์ มิได้บรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดฯ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ต่างไปจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งว่าโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องตรงไหนอย่างไร เป็นฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยดังกล่าวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share