แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า ผู้ร้องทั้งหกเป็นนายประกันจำเลยที่ 1 หลังจากได้ยื่นประกันแล้ว ผู้ร้องทั้งหกได้มอบอำนาจให้นายจรินทร์เพชรเรืองดำเนินการเกี่ยวกับการส่งตัวจำเลยต่อศาล รับเงินและหลักทรัพย์คืนจากศาล หาได้มอบอำนาจให้ทำอย่างอื่นไม่ ก่อนหน้าที่จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องทั้งหกได้รับคำบอกกล่าวจากนายจรินทร์เพชรเรือง ว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ยังเอาหลักทรัพย์คืนไม่ได้ผู้ร้องทั้งหกจึงเพิกเฉย โดยไม่ทราบคำสั่งของศาลที่สั่งปรับนายประกัน ต่อมาเมื่อสองเดือนมานี้ ผู้ร้องทั้งหกจึงทราบว่าศาลศาลสั่งปรับนายประกันและนายจรินทร์เพชรเรือง ได้ดำเนินการต่าง ๆ ไปโดยลำพัง การไต่สวนก็หาได้แสดงพยานหลักฐานหรือนำสืบพยานบุคคลให้ศาลเห็นถึงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่มาศาลแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ร้องแต่ละรายเป็นคนยากจน หากศาลปรับในราคาสูงแล้วก็จะต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด จะทำให้ผู้ร้องทั้งหลายไม่มีที่อยู่ทำกินและครอบครัวจะได้รับความเดือดร้อนโปรดไต่สวนและมีคำสั่งลดค่าปรับให้กับผู้ร้องทั้งหกด้วย
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
สืบเนื่องจากนายจรินทร์เพชรเรือง กับพวกรวม 10 คนได้ทำสัญญาประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อศาลชั้นต้น ต่อมาในระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งให้ปรับนายประกันตามสัญญาประกัน 500,000 บาท นายจรินทร์เพชรเรือง ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26กันยายน 2527 ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปรับนายประกันหรือลดค่าปรับนายประกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายจรินทร์เพชรเรือง นายประกัน ฎีกา (อันดับ 473)
คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา
ผู้ร้องทั้งหกยื่นคำร้องดังกล่าว (อันดับ 480)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามใบมอบฉันทะลงวันที่ 27 ธันวาคม2520 คดีอาญาระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์นายศักดิ์สิทธิ์หรือเชิญ สุวรรณภักดี กับพวกจำเลย ที่ผู้ร้องทั้งหกมอบฉันทะให้นายจรินทร์เพชรเรือง ทำการแทนนั้น ข้อ 1มีข้อความว่า ให้ยื่นสัญญาประกันและวางเงินสดจำนวน 500 บาท เซ็นทราบคำสั่งศาลแทนจนเสร็จคดีโดยเหตุนี้ คำสั่งศาลในเรื่องปรับนายประกัน เพราะผิดสัญญาประกัน จำเลยที่ 1 เมื่อนายจรินทร์เซ็นทราบ ก็ต้องถือว่าผู้ร้องทั้งหกทราบแล้วและย่อมผูกพันผู้ร้องทั้งหกซึ่งเป็นนายประกันร่วม เมื่อผู้ร้องไม่พอใจในคำสั่งศาลดังกล่าว ก็จะต้องอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาตามลำดับภายในอายุความอุทธรณ์ฎีกา ผู้ร้องทั้งหกจึงไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องนี้ ให้ยกคำร้อง