แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยแม้บางส่วน จะอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการโต้เถียงว่า จำเลยไม่มีเจตนาลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยง ภาษีศุลกากร ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษปรับสถานเดียว จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาฉบับนี้ จึงต้องห้าม ไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนจากพยานหลักฐาน ในสำนวน โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 149)
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ให้ปรับสี่เท่าของราคาของ รวมค่าอากรเป็นเงินทั้งสิ้น 6,898,769 บาท 32 สตางค์ ฯลฯ
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 147)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 149)
คำสั่ง
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับ จำเลยสถานเดียว ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยนำของกลางจากฮ่องกงไปส่งที่สิงคโปร์ ถือไม่ได้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานผิดจากสำนวนและข้อที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และคำสั่งกรมศุลกากรไม่ใช่กฎหมายนั้น เป็นข้อกฎหมายที่ไม่อาจปรับให้ ตรงกับข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังจึงเป็นข้อกฎหมายที่ไร้สาระไม่ทำให้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเปลี่ยนไป ฎีกาจำเลย ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของ จำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง