แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 จำเลยยื่นฎีกาต่อพัศดีเรือนจำเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2535 ซึ่งพ้นกำหนดอายุฎีกา จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า ที่จำเลยยื่นฎีกาล่วงเลยกำหนดเวลาฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาไว้ ก็เพราะจำเลยเข้าใจว่า ทนายจำเลยจะยื่นฎีกาแทนจำเลยดังที่เคยปฏิบัติมาในชั้นอุทธรณ์ จำเลยเพิ่งจะทราบในภายหลังว่าทนายจำเลยมิได้ยื่นฎีกา ในกำหนดเวลาดังกล่าว กรณีเป็นเหตุสุดวิสัย โปรดอนุญาตให้ ขยายเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 15 วัน และมีคำสั่งให้รับฎีกา ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ มีผู้ลงชื่อรับสำเนาคำร้องไว้ที่ตัวคำร้อง(อันดับ 51)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6)(7) ประกอบด้วยมาตรา 80,มาตรา 340,83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6)(7) ประกอบด้วยมาตรา 80,52(1) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้จำคุกตลอดชีวิต
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว(อันดับ 49 แผ่นที่ 2)
จำเลยยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 51)
คำสั่ง
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคแรกโดยจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นขยายเวลายื่นฎีกาด้วยการอ้างเหตุอันเนื่องมาแต่เหตุสุดวิสัย จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาขยายเวลายื่นฎีกา แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง