แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องฎีกาคำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220จึงไม่รับ
โจทก์เห็นว่า คดีที่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 นั้น เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในเนื้อหาแห่งคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงทั้งสองศาล แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เท่านั้น จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 ดังกล่าว และฎีกาของโจทก์ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานนอกสำนวน โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 88แผ่นที่ 1 และที่ 2) ส่วนจำเลยที่ 1 ส่งสำเนาคำร้องให้ไม่ได้(อันดับ 89)
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91,264,268,180
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงไม่รับ(อันดับ 48)
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง (อันดับ 55)
ศาลอุทธรณ์สั่งว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ไม่มีเอกสารคู่ฉบับมาเปรียบเทียบกับคู่ฉบับที่อ้างว่าปลอม พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าเป็นเอกสารปลอม โจทก์อุทธรณ์ว่าเอกสารเมื่อฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นแล้วฟังได้ว่าปลอม แม้จะไม่มีเอกสารคู่ฉบับมาเปรียบเทียบ เป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ที่แก้ไขแล้ว ประกอบด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ยกคำร้อง (อันดับ 77)
โจทก์ยื่นคำร้องฎีกาคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 79)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 84)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา198 ทวิ โจทก์ฎีกาคำสั่งนี้อีกไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ให้ยกคำร้อง