แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีทั้งห้าสำนวนเป็นคดีขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินจำเลยกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อคำนวณราคาที่ดินแต่ละสำนวนไม่เกินกว่าสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนเวลาที่โจทก์ฎีกาและที่โจทก์ฎีกาว่าที่พิพาทไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่เป็นของโจทก์นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนที่ 1 ถึงสำนวนที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งห้ารื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป ให้จำเลยทั้งห้าชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 120 บาท นับแต่วันที่ฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าสำนวนออกจากที่ดินอันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองที่แก้ไขแล้วจึงไม่รับฎีกาของโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์ในประเด็นที่ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ไม่มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกับคดีนี้ จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ขอให้มีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีทั้งห้าสำนวนนี้เป็นคดีขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน จำเลยกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์เมื่อคำนวณราคาที่ดินแต่ละสำนวนไม่เกินกว่าสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนเวลาที่โจทก์ยื่นฎีกา ที่โจทก์ฎีกาว่าที่พิพาทไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่เป็นของโจทก์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ให้ยกคำร้อง”