แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำร้องของ โจทก์มีข้อความว่า “ขอประทานศาลที่นั่งพิจารณา ในศาลชั้นต้นและหรือศาลอุทธรณ์ ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลา ตรวจฎีกาว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้หรือขอประทานให้อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้” เป็นการลอกเลียน ถ้อยคำในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งแต่แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่า ประสงค์ให้มีการรับรองหรือ อนุญาตให้ฎีกา ซึ่งข้อความในส่วนที่เกี่ยวกับการขอให้ผู้พิพากษา ที่นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองฎีกา ถือได้ว่ามีการระบุ ตัวผู้พิพากษาที่จะให้รับรองฎีกาแล้วเพราะแม้ไม่ระบุชื่อ ก็ไม่อาจ ตีความว่าเป็นผู้พิพากษานายอื่นนอกจากผู้พิพากษา 3 นาย ที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และในส่วนที่เกี่ยวกับการ ขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหลายคน แต่ตามคำร้องพอถือได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้รับรองฎีกา คำร้องของ โจทก์จึง ปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้ายแล้วส่วนที่โจทก์ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกานั้น เป็นขั้นตอนที่โจทก์อาจดำเนินการต่อไป หากผู้พิพากษาดังกล่าวไม่รับรองฎีกา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างถมดินจำนวน 320,750 บาท และดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระ ค่าจ้างถมดินที่ค้างชำระและค่าเสียหายแก่จำเลยรวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 300,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา ในศาลชั้นต้นและหรือศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่าคำร้องของ โจทก์มิได้ ระบุให้ผู้พิพากษาคนใดพิจารณารับรอง เป็นการไม่ชอบตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสี่ ยกคำร้อง และมีคำสั่งว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกา
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสุดท้ายไม่ได้กำหนดให้คำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงต้องระบุชื่อผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์คนใดรับรอง การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษา ที่นั่งพิจารณาคดีรับรองฎีกาของโจทก์ จึงเป็นการชอบด้วย บทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ส่วนการที่จะให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณา คนใดรับรอง เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้เสนอตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 69 ตามแนวคำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 975/2539 วางเป็นบรรทัดฐานไว้ การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์และสั่งยกคำร้องขอให้ผู้พิพากษา ที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและหรือศาลอุทธรณ์ให้รับรอง ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอศาลฎีกาโปรดมี คำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมกับฎีกาของโจทก์ไปให้ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณามีคำสั่งให้รับรองฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คำร้องของ โจทก์มีข้อความว่า “ขอประทานศาลที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นและหรือ ศาลอุทธรณ์ ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุ สมควรที่จะฎีกาได้ หรือขอประทานให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้” ซึ่งเป็นการลอกเลียนถ้อยคำในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แต่แสดง ให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่า ประสงค์ให้มีการรับรองหรืออนุญาต ให้ฎีกา ซึ่งข้อความดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการขอให้ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองฎีกา ถือได้ว่า มีการระบุตัวผู้พิพากษาที่จะให้รับรองฎีกาแล้ว เพราะแม้ไม่ระบุชื่อก็ไม่อาจตีความว่าเป็นผู้พิพากษานายอื่นนอกจากผู้พิพากษา 3 นาย ที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีนี้ และในส่วนที่เกี่ยวกับการขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองฎีกา แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหลายคน แต่ตามคำร้องพอถือได้ว่า โจทก์ประสงค์ให้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้รับรองฎีกานั่นเอง คำร้องของ โจทก์ จึงปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย แล้ว ที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของ โจทก์ และมีคำสั่งไม่รับฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ
ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของ โจทก์และเพิกถอน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้อง ของโจทก์พร้อมสำนวนไปยังผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพื่อมีคำสั่งตามรูปคดี แล้วให้ศาลชั้นต้น ดำเนินการสั่งฎีกาของโจทก์ต่อไป
ส่วนที่โจทก์ขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ ฎีกานั้น เป็นขั้นตอนที่โจทก์อาจดำเนินการต่อไป หากผู้พิพากษา ดังกล่าวไม่รับรองฎีกา”