คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)
แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากร 3,746,521.23 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 นำออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 เป็นเงิน 7,010,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามคำพิพากษา
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 21685/2540 ระหว่าง บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัทหอวิจิตร จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย โดยพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 กรกฎาคม 2540) ต้องไม่เกิน 2,532,281.92 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทน โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ต่อมาโจทก์เดิมถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าว คงมีแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เดิมยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2546 โดยมิได้มีการบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอเกิน 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องได้ทำการซื้อขายสินทรัพย์รวมทั้งหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดี แต่มีคำสั่งด้วยว่า ผู้ร้องจะทำการบังคับคดีได้หรือไม่ เป็นอีกกรณีต่างหาก ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 มีการบังคับจำนองและจดทะเบียนระงับจำนอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องที่อนุญาตให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิในชั้นบังคับคดีแทนบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนอง ผู้ร้องย่อมอยู่ในฐานะผู้สวมสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยที่ 3 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 21685/2540 ของศาลแพ่ง ระหว่าง บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัทหอวิจิตร จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย เป็นการตั้งเรื่องมาในคำร้องโดยขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นภายในกำหนดเวลาของมาตรา 289 วรรคสอง ซึ่งให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วนมิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในคดีนี้ในฐานะผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะว่าหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ทั้งนี้ จะบังคับได้แต่ต้นเงินจำนองและดอกเบี้ยไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 745 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การร้องขอกันส่วนเป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งเพื่อเอาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวชำระหนี้แก่ผู้ร้อง โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ไม่บังคับคดีจนล่วงเลยเวลา 10 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงหมดสิทธิขอกันส่วนจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีนั้นเช่นกัน นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3057 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share