คำสั่งคำร้องที่ 6/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อ 2 ส่วนปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาจึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า จำเลยฎีกาในข้อ 4 ว่า ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227และคดีนี้ศาลล่างวินิจฉัยรับฟังแต่พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ ยังไม่ได้พินิจวินิจฉัยพยานหลักฐานทั้งปวง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา และตามฎีกาข้อ 5 จำเลยยกเอาหลักแห่งนิติธรรมขึ้นต่อสู้ว่า เมื่อกรณีปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร่วมหรือถือว่าได้ร่วมในการกระทำความผิดเสียเองแล้ว จะไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยได้ และผู้เสียหายเช่นนี้ไม่มีสิทธิฟ้องคดี กับตามฎีกาข้อ 6 จำเลยได้อ้างหลักนิติธรรมว่า ผู้เสียหายยอมให้ตนเองเสียหายหรือไม่ป้องกันความเสียหายทั้งที่อาจป้องกันได้ ไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งศาลล่างมิได้วินิจฉัยตามหลักเหล่านี้เสียก่อนเพื่อจะชี้ขาดว่า เป็นผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบและเป็นข้อกฎหมาย อาศัยเหตุผลดังกล่าว โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยข้อ 4,5 และ 6
หมายเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมต่างได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 56,57 แผ่นที่ 6)
ระหว่างพิจารณา นายสุธีสังข์ภาพันธ์ ผู้เสียหาย ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 10 เดือน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 54)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 56)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 100,000 บาท ด้วยลายมือชื่อไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ต่อธนาคาร โดยจำเลยมีเงินในบัญชีเพียง 1,000 บาท จึงมีเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค พิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 10เดือน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คผิดไปจากตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคารขณะมีเงินในบัญชี 1,000 บาทบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็ค มิใช่ออกเช็คเพื่อประกันเงินกู้ พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง ให้จำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218 จำเลยฎีกาข้อ 4 ว่าได้สืบพยานหักล้างพยานโจทก์ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วมไว้เป็นประกัน มีน้ำหนักก้ำกึ่งกับพยานโจทก์ ศาลควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ฎีกาข้อ 5 และข้อ 6 ที่ว่า โจทก์ร่วมรู้ว่า จำเลยมีฐานะการเงินไม่ดี ออกเช็คให้ล่วงหน้า 1 เดือน ขณะออกเช็คจำเลยไม่มีเงิน ถือว่าโจทก์ร่วมยอมรับเอาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายก็ดี และข้อเท็จจริงยังฟังเป็นยุติไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คก็ดีล้วนแต่เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาว่า จำเลยออกเช็คชำระหนี้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายนั่นเอง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลย ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share