แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่าอุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงไม่รับอุทธรณ์
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 1 ถึงข้อ 3 ที่ว่าศาลแรงงานกลางได้รับฟังพยานหลักฐานตรงข้ามกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน และอุทธรณ์ข้อ 4ในประเด็นที่ว่า ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาเกินคำขอของโจทก์ที่ 1 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 78)
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 12,160 บาท ค่าชดเชยจำนวน34,200 บาท และค่าจ้างค้างจำนวน 11,020 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤษภาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้แก่โจทก์ที่ 1และให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 11,413.33 บาท และ ค่าชดเชยจำนวน 32,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤษภาคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลย ออกใบสำคัญแสดงการผ่านงานให้โจทก์ทั้งสอง ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับ (อันดับ 62)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 74)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 1 ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของโจทก์ทั้งสองประกอบคำเบิกความ ของพยานโจทก์เฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ โดยมิได้วินิจฉัยถึงข้อพิรุธของพยานด้วย พยานโจทก์ เบิกความขัดกันเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ทั้งเป็นพวกเดียวกัน ย่อมต้องเบิกความช่วยเหลือโจทก์ พยานจำเลยมีน้ำหนัก ดีกว่าและเชื่อว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ อุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า จากคำเบิกความของนายนริศเห็นได้ว่าการสั่งซื้ออะไหล่ของโจทก์ที่ 1 มิได้กระทำตามระเบียบของบริษัท และการสั่งซื้อสายไฟเกินความจำเป็นจะต้องใช้ นางรัชนกเบิกความว่า เหตุที่จำเลยสั่งให้พยานเข้าควบคุมดูแลศูนย์บริการเนื่องจากมีลูกค้าร้องเรียน เกี่ยวกับการทุจริตในการซ่อมรถ โจทก์ที่ 2 ก็เบิกความ รับว่า โจทก์ที่ 1 เคยมีปากเสียงกับพยานเนื่องจากการ เข้ามาควบคุมดูแล จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ทุจริต และอุทธรณ์ในข้อ 3 ว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความรับว่า โจทก์ที่ 1 มีโต๊ะประจำตำแหน่งและใช้โต๊ะนี้เก็บเอกสาร จึงเชื่อว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษากุญแจโต๊ะไว้ เห็นว่าอุทธรณ์ ของ จำเลยที่ 3 ข้อ ดังกล่าว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจ ในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ส่วนที่ จำเลยอุทธรณ์ใน ข้อ 4 ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยออก ใบรับรอง การผ่านงานแก่โจทก์ที่ 1 เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ได้ขอให้จำเลย ออกใบสำคัญการผ่านงานแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย ดังนั้น อุทธรณ์ของ จำเลยในข้อนี้แท้ที่จริงจึงเป็นการโต้แย้ง ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ มีคำขอดังกล่าว อันเป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงเช่นกันอุทธรณ์ของ จำเลยทุกข้อจึงต้องห้าม มิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง