คำสั่งคำร้องที่ 576/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า ตามคำร้องขอรับรองฎีกาของโจทก์อ้างว่า ฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญควรแก่การขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งว่า อนุญาต สำเนาให้จำเลย ให้ส่งสำเนาให้ครบใน 7 วัน นั้น จะถือได้หรือไม่ว่าเป็นคำสั่งของผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีนี้ที่รับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะผู้พิพากษาท่านนี้ได้เคยสั่งในฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์แล้วว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และไม่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ดังนั้นการที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นท่านเดียวกันกับที่เคยสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์มาแล้ว มาสั่งรับรองและอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาได้นั้น ย่อมไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามฎีกา โปรดมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,367,83 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ยื่นคำร้องขอรับรองฎีกาพร้อมกับฎีกา ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่าอนุญาตและสั่งในฎีกาว่ารับฎีกาของโจทก์ (อันดับ 83,84)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 90)

คำสั่ง
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของคู่ความฝ่ายหนึ่งไว้แล้วหากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใดก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านไว้ในคำแก้ฎีกา หามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าวได้ไม่ ให้ยกคำร้อง

Share