คำสั่งคำร้องที่ 512/2541

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของ จำเลยกล่าวอ้างเพียงว่า คำวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง โดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลฎีกาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ พนักงาน สอบสวนจะสอบสวนได้หรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้หรือไม่และถ้าเป็นกรณีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลฎีกาจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120,121 บังคับแก่จำเลย ได้หรือไม่ ก็มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทกฎหมายใดขัดต่อ รัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลฎีกาจะต้องรอการพิจารณา พิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นของจำเลยเช่นว่านั้น ตามทางการเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตามลำดับ และเรียกจำเลยสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3
ระหว่างพิจารณานางสำเนา บัวสาตร์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก มาตรา 310 วรรคแรกประกอบมาตรา 83 มาตรา 276 วรรคแรกและวรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา 284 วรรคแรก จำคุก 5 ปี กระทงหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 310 วรรคแรก จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่งความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรกและวรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี กระทงหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 21 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก มาตรา 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 284 วรรคแรกจำคุก 5 ปี กระทงหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา 310 วรรคแรกจำคุก 1 ปี กระทงหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 ปี ริบรถยนต์ ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า คดีนี้จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้ดำเนินคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนภายในอายุความตามกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสามมิได้ต่อสู้ว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น เพิ่งยกขึ้นต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นกรณีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งต้องถือว่าบทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 หากศาลฎีกา ไม่วินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีก เท่ากับจำเลยทั้งสามไม่ได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 ซึ่งตามมาตรา 264 กำหนดให้คู่ความโต้แย้งได้ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติในเรื่องที่จำเลยทั้งสามยื่น คำร้องนี้ ศาลจึงต้องรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว และส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่าการที่คดีทั้งสอง สำนวนนี้ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้ หรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้หรือไม่ และถ้าเป็นกรณีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลฎีกาจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 บังคับแก่จำเลยทั้งสามได้หรือไม่ ขอให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งสำนวนและคำร้องไปยังศาลฎีกาเพื่อส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ศาลฎีกาสั่งว่า “คำร้องของ จำเลยเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าคำวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ถูกต้อง มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญและที่จำเลยขอให้ศาลฎีกาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่คดีทั้งสองสำนวนนี้ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจะสอบสวนได้หรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกามีอำนาจไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้หรือไม่ และถ้าเป็นกรณีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยศาลฎีกาจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120, 121 บังคับแก่จำเลยทั้งสามได้หรือไม่ ก็มิใช่เป็นการโต้แย้งว่า บทกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเช่นว่านั้น ตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ให้ยกคำร้อง”

Share