แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟ้องขอให้จำเลยผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 91,380 บาท โดยโจทก์ที่ 2เรียกร้องเป็นเงิน 8,275 บาท โจทก์ที่ 3 เรียกร้องเป็นเงิน 12,921 บาทและโจทก์ที่ 4 เรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับรถของตนเองเป็นเงิน 70,184 บาทดังนี้ไม่ใช่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าหนี้ร่วม แต่เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายแยกจากกัน จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิดมาดังกล่าวเท่านั้น เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาจำเลยไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงในส่วนของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต่อมาได้แม้จำเลยจะให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงมาแล้วก็ตาม
โจทก์ที่ 2 ผู้มอบอำนาจจะลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1 มิได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจด้วยก็ใช้ได้เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับมอบอำนาจต้องลงชื่อด้วย และแม้ขณะที่โจทก์ที่ 1ยื่นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 2 และที่ 3นั้นจะมิได้ปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน ก็ได้ปิดแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ มิใช่กรณีที่หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์มาแต่ต้นอันจะทำให้ฟ้องสำหรับคดีโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ 2และที่ 3 ได้
แม้ใบเสร็จรับเงินจะเป็นภาษาต่างประเทศบางส่วน ไม่มีคำแปลภาษาต่างประเทศดังกล่าวให้เป็นภาษาไทย ก็เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 46 วรรคสาม หรือไม่ เมื่อศาลมิได้สั่งให้โจทก์ที่ 2 ทำคำแปล โจทก์ที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องทำคำแปล ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ หาขัดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่