คำสั่งคำร้องที่ 492/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียไม่มีอำนาจยื่นฎีกา จึงไม่รับเป็นฎีกาของโจทก์
โจทก์เห็นว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและผู้รับจำนอง ย่อมได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของผู้ซื้อเดิมเพราะทำให้โจทก์ได้รับเงินสุทธิจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองน้อยกว่าราคาเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 บัญญัติว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีอำนาจยื่นฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ การส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยไม่สามารถ จะกระทำได้ โจทก์จึงขอให้ประกาศหน้าศาลแทน (อันดับ 92,93)
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่ค้างชำระวันครบกำหนดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี (9 มกราคม 2528)เป็นเงิน 877,725.98 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5 ต่อปี คำนวณถึงวันฟ้อง (16 กันยายน 2528) และให้ จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองโจทก์ไว้ตามที่ปรากฏในฟ้องและทรัพย์สินอื่นบังคับชำระหนี้จนครบ กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทราบคำบังคับแล้วไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ โจทก์จึงขอบังคับคดี และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2532เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 8713แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 40 กรรมสิทธิ์ของจำเลยไปตามคำสั่งศาลปรากฏว่านางสบายดี กิตติไพศาลกุล เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อได้ในราคา 1,020,000 บาท แต่นางสบายดีไม่วางชำระเงินมัดจำค่าซื้อตามสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวใหม่ มีผู้ซื้อ รายใหม่เสนอราคาสูงสุดและซื้อได้ไปในราคา 670,000 บาท และผู้ซื้อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดทรัพย์ ครั้งหลังได้ราคาต่ำกว่าการขายครั้งแรก ดังนั้นนางสบายดี ผู้ซื้อเดิมจะต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินสุทธิส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 516 เป็นเงิน 334,520 บาทเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้นางสบายดีนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระ แต่นางสบายดีเพิกเฉย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 รายงานศาลชั้นต้นทราบ และขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของนางสบายดีต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งในหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดี (6 กรกฎาคม 2533) ว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะร้องขอบังคับคดีในกรณีเช่นนี้ได้ จึงไม่อาจดำเนินการให้ตามหนังสือนี้ได้แจ้งพนักงานบังคับคดีทราบ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 88)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 89)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ยึดอายัดทรัพย์สินของนางสบายดี กิตติไพศาลกุล โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ให้รับฎีกาของโจทก์ไว้ ดำเนินการต่อไป

Share