แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าฎีกาของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 จึงไม่รับ
โจทก์เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นการลอกเลียนผลิตภัณฑ์โจทก์อันจะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 หรือผลิตภัณฑ์ของโจทก์จำเลยดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างกันในสาระสำคัญ และจำเลยจะขอรับสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ถือว่าไม่เป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลยโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทั้งแปดได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85,86,88 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33,83,84,91 ฯลฯ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 58)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 59)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลอกเลียนหรือใช้กรรมวิธีหรือใช้แบบการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเปรียบเทียบว่า ใบม่านบังตาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีลักษณะแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 1069 ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การลอกหรือเลียนการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์ ปัญหาที่ว่าลักษณะแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 2 ผลิต มีไว้หรือขายเป็นการลอกเลียนแบบการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์หรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมาย ดังนั้น ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป