คำสั่งคำร้องที่ 430/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ข้อ 1 เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยาน เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 54 ส่วนอุทธรณ์ข้อ 2 ในการขอให้ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เป็นการนำไปสู่การโต้เถียงในเรื่องดุลพินิจในการรับฟังพยาน อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ไม่รับอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 1 เป็นการกล่าวอ้างว่า พฤติการณ์ที่ปรากฎในท้องสำนวนนั้น ถือเป็นการเลิกจ้างตาม ความหมายของกฎหมายแรงงานแล้วเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และอุทธรณ์ ข้อ 2 ในเรื่องขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาแปลและให้ความเห็นเกี่ยวกับ เอกสารหมาย จ.1 นั้น ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นกัน โปรดมี คำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 43) โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าชดเชยและเงินทดแทนให้โจทก์ เป็นจำนวนเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์(อันดับ 39) โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 40)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อ 2(1) ที่อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานในสำนวนไม่ปรากฏว่าโจทก์ลาออก คำเบิกความของโจทก์ ก็ฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะขัดแย้งกันทางด้านบริหาร เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล แรงงานกลางที่ฟังว่าโจทก์ลาออกเอง จำเลยไม่ได้เลิกจ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์โจทก์ข้อ 2(2) ที่อุทธรณ์ว่า ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิ แปลและให้ความเห็นว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นหนังสือเลิกจ้างหรือไม่ ก็เป็นการนำไปสู่การโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยาน หลักฐานของศาลแรงงานกลางเช่นเดียวกัน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริง อุทธรณ์โจทก์ทั้ง 2 ข้อ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share