แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า พิเคราะห์แล้วอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 2.1 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงรับเป็นอุทธรณ์ ส่วนข้อ 2.2 เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมา ในศาลแรงงานกลาง จึงไม่รับ สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นนอกนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับ
จำเลยที่ 1 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 จำเลยได้ต่อสู้ในคำให้การไว้ชัดแจ้งแล้ว สำหรับอุทธรณ์ของ 2.3และ 2.4 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 ข้อ 2.3 และข้อ 2.4 ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย
หมายเหตุ ทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 81)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2534 เสีย และให้จำเลยชำระเงินจำนวน2,640 บาท ต่อเดือนให้แก่โจทก์ทุกเดือนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปค่าเสียหายรายเดือนให้จำเลยชำระจนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินเดือน เท่ากับอัตราที่โจทก์ได้รับในวันก่อนถูกลงโทษส่วนคำขออื่น ของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่ง ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.2 และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 และข้อ 2.4(อันดับ 84,76)
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 79)
คำสั่ง
จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.2 ว่า การใช้ดุลพินิจลงโทษพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการใช้อำนาจทางบริหาร เป็นเรื่อง กฎหมายปกครอง หากเป็นกรณีพิพาทก็เป็นข้อพิพาทในทางปกครอง ต้องพิจารณาพิพากษาโดยศาลปกครอง ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่อง อยู่นอกเหนืออำนาจของศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์นั้น ในข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การไว้ว่าคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจ พิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมา ในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.3 สรุปได้ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,640 บาทต่อเดือนให้แก่โจทก์ทุกเดือน โดยให้เหตุผลว่า ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบวินัยการร้องทุกข์การเลิกจ้าง คงมีแต่จำเลยที่ 7 เท่านั้นเบิกความลอย ๆไม่ปรากฏรายละเอียดแห่งระเบียบดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยเพราะความจริงจำเลยได้อ้างพยานเอกสาร และพยานบุคคลหลายคน ศาลต้องเรียกพยานอธิบายข้อเท็จจริง ให้กระจ่าง ทั้งระเบียบและรายละเอียดปรากฏในท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็น การโต้แย้งดุลพินิจของ ศาลแรงงานกลางในการวินิจฉัยพยานหลักฐาน จึงเป็นอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.4 ว่า ตามอุทธรณ์ในข้อ 2.3ของจำเลยว่าศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ชอบ โดยขอให้ศาลฎีกา สั่งให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่ม ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 นั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยพยานจำเลยแล้ว ว่าฟังไม่ได้เป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่วินิจฉัย ปัญหาข้อกฎหมายไม่มีกรณีจำต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มดังที่ จำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เช่นเดียวกัน อุทธรณ์ข้อ 2.3 และข้อ 2.4 จึงต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ดังกล่าวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง