แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยเคยยื่นฎีกามาแล้วครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา จำเลยจึงยื่นฎีกาอีกครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งว่า ก็เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ฯลฯ จึงไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 3(2) ที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 56นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย และคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก จำเลยจึงฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ไม่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 219 แต่อย่างใด โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,7,26,75,102 ฯลฯจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด2 ปี ริบของกลางและคืนธนบัตร 20 บาท แก่เจ้าของศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยและไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 60)จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 63)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปีและปรับ 10,000 บาท และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่ปรับการที่จำเลยฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับดุลยพินิจของศาลว่าสมควรรอการลงโทษให้จำเลยนั้น จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ให้ยกคำร้อง