แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๕/๒๕๕๕
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดชลบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดชลบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓ นางสุมิตรา ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๑ เด็กชายกรธวัฒน์ ชูยิ่งสกุลทิพย์ โดยนางสุมิตรา ชูยิ่งสกุลทิพย์ ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒ เด็กชายณัฐวรรธน์ ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๓ โดยนางสุมิตรา ชูยิ่งสกุลทิพย์ ผู้แทนโดยชอบธรรม นางพิมพร ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๔ นายพิชิต ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๕ โจทก์ ยื่นฟ้อง สิบตำรวจโท สุริยา สันติวัฒนา ที่ ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดชลบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๘๙/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกา ขณะที่นายเกรียงไกร ชูยิ่งสกุลทิพย์ ขับขี่รถยนต์ยี่ห้อนิสสัน คันหมายเลขทะเบียน บล ๗๖๗๐ ชลบุรี ไปตามถนนสายหนองเสือช้างมุ่งหน้าไปอำเภอบ่อทอง เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงกำลังจะข้ามสี่แยกไปตามสัญญาณไฟเขียว จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน ๓๑-๘๑๘๐ กรุงเทพมหานคร บรรทุกเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ทำเนียบรัฐบาล ฝ่าไฟสัญญาณจราจรสีแดงอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่นายเกรียงไกรขับ เป็นเหตุให้นายเกรียงไกรถึงแก่ความตายทันที โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายเกรียงไกร ผู้ตาย และโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดดังกล่าว และจำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เหตุละเมิดดังกล่าวนายเกรียงไกร ผู้ตาย เป็นฝ่ายประมาทด้วย ค่าเสียหายสูงเกินจริง และคำฟ้องบางข้อเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ที่ ๑ มีหนังสือขอให้จำเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ แก่โจทก์ทั้งห้า เป็นการประสงค์ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้พิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องค่าสินไหมทดแทนและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าทราบแล้ว หากโจทก์ทั้งห้าไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๔ โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๖) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชลบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๖ บัญญัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เหตุละเมิดคดีนี้ จึงเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และถือเป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดทางละเมิดอาจอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้ เมื่อการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่คือการขับรถ ไม่ใช่การฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกละเมิดยังไม่พอใจในการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และความเสียหายในคดีนี้มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของจำเลยที่ ๒ หรือตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง (๗) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๖ (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาและรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เหตุละเมิดเกิดจากจำเลยที่ ๑ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติภารกิจการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในที่นี้จึงต้องหมายความรวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ เพื่อนำพาอุปกรณ์ที่ใช้ในการปราบปรามจลาจลและกำลังตรวจไปจนถึงการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน กรณีถือได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒ ตั้งแต่ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ ๒ จนกระทั่งภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งดังกล่าวเสร็จสิ้น ด้วยเหตุนี้ การที่จำเลยที่ ๑ ทำหน้าที่ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ๓๑-๘๑๘๐ กรุงเทพมหานคร บรรทุกอุปกรณ์เพื่อใช้ในการปราบจลาจลและกำลังตำรวจส่วนหนึ่งเดินทางจากจังหวัดตราดมุ่งหน้าไปกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ขับรถตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่มีเป้าหมายการเดินทางเพื่อไปปฏิบัติภาระหน้าที่ทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมาย การขับรถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ดำเนินกิจการทางปกครองในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาและการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ การปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสาระสำคัญต่อเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ เมื่อขณะผ่านทางร่วมทางแยกซึ่งมีสัญญาณไฟจราจรได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บล ๗๖๗๐ ชลบุรี ซึ่งมีนายเกรียงไกรเป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้นายเกรียงไกรถึงแก่ความตาย เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งศาลจังหวัดชลบุรีเองก็มีความเห็นว่า เหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เมื่อความเสียหายของโจทก์ทั้งห้าเกิดจากการดำเนินกิจการทางปกครองดังกล่าว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ ๑ ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอให้จำเลยที่ ๒ พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและจำเลยที่ ๒ ได้มีคำสั่งในเรื่องค่าสินไหมทดแทนและแจ้งให้โจทก์ที่ ๑ ทราบแล้วว่า หากโจทก์ที่ ๑ ไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ จะต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อันเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด อันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในสังกัดจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งห้าอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อบรรทุกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ทำเนียบรัฐบาล ฝ่าไฟสัญญาณจราจรสีแดงอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่นายเกรียงไกรขับ เป็นเหตุให้นายเกรียงไกรถึงแก่ความตายทันที โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อนายเกรียงไกร ผู้ตาย และโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย โดยการขับรถ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แม้มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้ผู้เสียหายที่ยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ไปฟ้องยังศาลปกครองก็ตาม แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๖ บัญญัติให้สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ในคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสุมิตรา ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๑ เด็กชายกรธวัฒน์ ชูยิ่งสกุลทิพย์ โดยนางสุมิตรา ชูยิ่งสกุลทิพย์ ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๒ เด็กชายณัฐวรรธน์ ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๓ โดยนางสุมิตรา ชูยิ่งสกุลทิพย์ ผู้แทนโดยชอบธรรม นางพิมพร ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๔ นายพิชิต ชูยิ่งสกุลทิพย์ ที่ ๕ โจทก์ สิบตำรวจโท สุริยา สันติวัฒนา ที่ ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ