แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาจำเลยที่ 3เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้าม จึงไม่รับฎีกา
จำเลยที่ 3 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การพิเคราะห์พยานหลักฐานในการพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 3 ด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 91)
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ฯลฯจำเลยที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 87)
จำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 91)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยฟังว่าจำเลยที่ 3 รับยางรถยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 3 ผิดฐานรับของโจร ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ไม่ได้กระทำผิดฐานรับของโจรจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ยังมิได้มีการสอบสวนในข้อหานี้ ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าได้มีการสอบสวนในข้อหานี้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3จึงเป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง