คำสั่งคำร้องที่ 2810/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาข้อเท็จจริงอันนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับ จำเลยเห็นว่า ฎีกาที่ว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้มีดเป็นอาวุธฟันที่ใบหน้าด้านซ้าย มีบาดแผลยาว 15 เซนติเมตรเป็นเหตุให้ใบหน้ามีบาดแผลเสียโฉมติดตัวได้รับอันตรายสาหัสขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 แต่ทางพิจารณา ได้ความว่า เป็นบาดแผลธรรมดาไม่เสียโฉมติดตัว จึงเป็น ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องและเป็น ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญ แม้จำเลยจะรับสารภาพก็ถือว่า จำเลยได้หลงต่อสู้แล้ว กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และฎีกาที่ว่า การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่ศาลพิพากษา ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ปัญหาว่า จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ได้หรือไม่ ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4) จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 32) จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 35)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายเป็นบาดแผลเสียโฉมติดตัวและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share